Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 6 มี.ค. 2556

เอกสารแนบ

 

ตอนนี้การสักเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าว่าแต่ในประเทศไทย แม้ในต่างประเทศก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ ในสหรัฐอเมริกา พิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ ระบุว่า วัยรุ่นอเมริกันอายุระหว่าง 18-25 ปี มากกว่า 1 ใน 3 มีรอยสักติดตัวอย่างน้อย 1 จุด

ที่น่าสนใจก็คือ แม้การสักจะเป็นที่นิยมมากขนาดนั้น ยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้ามาดูแลในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องของหมึก สำหรับใช้ในการสัก เรื่อยไปจนถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวผู้ทำหน้าที่สักและสถานที่ที่จะใช้สักกันเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือในสหรัฐอเมริกา นั่นทำให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และแพทย์บางคนวิตกไม่น้อย

ดร.มิชิ ชิโนฮารา ศาสตราจารย์ด้านวิชาการโรคผิวหนัง หรือ ตัจวิทยา (เดอร์มาโทโลยี) จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน ในซีแอตเติล เผยแพร่ความกังวลในเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการในเอกสารเผยแพร่ของทางสถาบันวิชาการโรคผิวหนังอเมริกัน (อเมริกัน อคาเดมี ออฟ เดอร์มาโทโลยี) เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา บอกว่า นอกจากจะไม่มีกฎข้อบังคับอะไรอยู่เลยแล้ว หลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการสักยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่รู้ กันว่ามีอันตรายหรือไม่ ถ้ามี มีอันตรายมากมายแค่ไหนกันอีกด้วย

ดังนั้น นอกจากลูกค้าผู้บริโภค การสัก ควรต้องรู้ตัวว่าการสักมีความเสี่ยงอยู่ในตัวแล้วก็ควรแจ้ง ให้เป็นที่รับรู้กันหากเกิดผิดปกติขึ้่นมา ทั้งต่อตัวผู้สัก และไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ดร.ชิโนฮาราบอกว่า หมึกที่ใช้สักกันนั้นพัฒนาไปเรื่อยๆ ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันเป็นหมึกที่ผสมสีย้อมชนิดหนึ่งซึ่งมีเม็ดสีที่มีองค์ประกอบพื้นฐานเป็นพลาสติก ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์, สิ่งทอ และสีพ่นรถยนต์ จนกระทั่งถึงขณะนี้ยังมีหลายอย่างมากที่แพทย์ผิวหนังเองก็ยังไม่รู้ว่า หมึกสำหรับสัก ดังกล่าวนี้มีปฏิกิริยากับผิวหนังไปในทางใดบ้าง

ปัญหาที่เกิดบ่อยที่สุดก็คือ อาการแพ้สีที่สัก อย่างไรก็ตาม ดร.ชิโนฮารา ยืนยันว่า ผู้รับบริการสักอาจเกิดอาการติดเชื้อได้ง่ายซึ่งสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ ทั้งนี้ นอกเหนือจากการติดเชื้อแบคทีเรียระหว่างการสักหรือหลังสักไม่นานแล้ว ยังเคยมีรายงานด้วยว่า มีผู้ติดเชื้อ ซิฟิลิส และ เชื้อโรคตับอักเสบ บี และ ซี จากการสักมาแล้ว เพราะการสักทำไปโดยไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยที่ดีพอ

ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้สักอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ในทางหนึ่งเป็นเพราะรอยสักทำให้การตรวจสอบพบพัฒนาการของโรคได้ยากมากขึ้นโดยเฉพาะมะเร็งผิวหนังที่เกี่ยวเนื่องกับไฝ ดังนั้น ดร.ชิโนฮารา จึงเรียกร้องว่า อย่าได้เพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองด้วยการสักในบริเวณที่เป็นไฝอยู่แล้วเป็นอันขาด นอกจากนั้น บริเวณที่สักอาจก่อให้เกิดไตแข็งขึ้นและอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่เรียกว่า สคอวมัน เซลล์ คาร์ซิโนมา ได้ไตแข็งที่เกิดขึ้นยังยากต่อการแยกแยะ หรือวินิจฉัยเมื่อเกิดในรอยสัก ทำให้กลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ง่ายกว่า นำไปสู่การรักษาที่สิ้นเปลืองสูงโดยไม่จำเป็นอย่างเช่นบางรายอาจถึงกับต้องผ่าตัดเลยก็มี

ถ้าหากยังต้องการเสี่ยงเพราะอยากสวยด้วยรอยสักต่อไป ดร.ชิโนฮารา แนะนำว่า ควรเลือกสถานที่สักและศิลปินรอยสักที่มีใบอนุญาต หรือผ่านการตรวจสอบอยู่บ้าง และต้องยืนกรานขออุปกรณ์การสักใหม่ ในบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว หากมีปัญหาแพ้ขึ้นมาให้รีบแจ้งผู้สักทันทีและหากปัญหายังคงอยู่นานเกินสัปดาห์ หรือกว่านั้นควรพบแพทย์ทันที

ข้อสำคัญที่สุดคือ ผู้ที่มีอาการโรคผิวหนังเรื้อรัง อย่างเช่น โรคสะเก็ดเงิน (โซเรียซิส) โรคผื่นคันเรื้อรัง (เอ็คซีมา) หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นแผลเป็นถาวร หรือ คีลอยด์ ได้ง่าย ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจสัก