Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 6 ธ.ค. 2556

เอกสารแนบ

เคยรู้สึกไหมว่า ทำไมผิวของเราถึงแห้ง แตกเป็นขุย มีผดผื่นขึ้นเพราะแพ้เครื่องสำอาง เป็นสิวง่าย หรือขาดความชุ่มชื้น... นั่นเพราะว่าผิวของคนเรามีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีวิธีดูแลที่แตกต่างกัน มาดูกันว่าผิวของคุณเป็นประเภทไหนแล้วมีวิธีดูแลอย่างไร

 

 

 

เริ่มจากผิวหนังบนใบหน้าของคนเรา ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มง่าย ๆ คือ ผิวแห้ง ผิวมัน หรือผิวแพ้ง่าย ซึ่งแต่ละประเภทนั้นสามารถปรับเปลี่ยนสภาพได้ตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ สภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม ความเครียด ภาวะหมดประจำเดือน การตั้งครรภ์ และโรคผิวหนังต่าง ๆ เริ่มต้นที่ “ผิวแห้ง” กันก่อน เป็นประเภทที่เกิดริ้วรอยและสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย

โดยปกติผิวหนังสามารถสร้างสารให้ความชุ่มชื้นได้เองตามธรรมชาติ จากกรดไขมันต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีน้ำมันเคลือบผิวจากต่อมไขมัน หรือความชื้นในบรรยากาศที่ลดลงในหน้าหนาวก็เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นและทำให้ผิวแห้งได้ต่อมาคือ “ผิวมัน” มักเกิดจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป อาจทำให้เกิดสิว 

แต่ผิวประเภทนี้ก็มีข้อดีคือไม่ค่อยเกิดริ้วรอย ส่วนการลดน้ำมันจากต่อมไขมันนั้นต้องใช้ยารับประทาน ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนใช้“ผิวแพ้ง่าย” เป็นผิวที่แดงหรืออักเสบง่าย เช่น ใช้ครีมอะไรก็แพ้ หน้าแดง แสบ เป็นสิวง่าย มักพบว่าเป็นปัญหาในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางและใช้น้ำเปล่าล้างหน้า หลีกเลี่ยงสบู่ที่ทำอันตรายกับผิว และหากจำเป็นต้องใช้ ควรเลือกใช้พวกสบู่อ่อน ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือเกิดสิวสำหรับในช่วงอากาศหนาว ซึ่งมีความชื้นในอากาศต่ำ ผิวจะแห้งแตกเป็นขุยได้ง่ายโดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมไขมันน้อย เช่น หน้าแข้ง แขน หน้าท้องด้านข้าง จึงควรดูแลผิวเป็นพิเศษในช่วงนี้

โดยอาจเริ่มจากหลีกเลี่ยงสบู่ที่มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ใกล้เคียงกับผิว หรือประมาณ 5.5 สบู่ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารก่อความระคายเคือง หรืออาจเลือกใช้สบู่เด็กก็ได้ และไม่ควรอาบน้ำร้อน แช่น้ำนานหรืออาบน้ำเกินวันละ 2 ครั้ง รวมทั้งว่ายน้ำในสระที่มีคลอรีน เพราะสารคลอรีนจะทำให้ผิวแห้งง่าย

นอกจากนี้ยังควรทาครีมหรือน้ำมันให้ความชุ่มชื้นกับผิวหลังอาบน้ำ แต่หากรู้สึกคันให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบจะช่วยลดอาการคันได้ หากผิวยังแห้ง คันหรืออักเสบเป็นผื่นแดง ควรรีบปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพราะอาจเกิดจากการแพ้สารเคมีหรือเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหนังแห้ง หรือโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น

ส่วนครีมที่เหมาะแก่การบำรุงผิวนั้นมีหลายประเภท ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพผิวหรือสถานการณ์ของแต่ละคน ซึ่งในท้องตลาดมีสารให้ความชุ่มชื้นหรือที่เราเรียกว่า Moisturizers มีทั้งแบบ “ขี้ผึ้ง” (ointment) ซึ่งให้ความชุ่มชื้นมากที่สุด แต่มีข้อเสียคือทาแล้วเหนียวเหนอะหนะ เช่น วาสลีน หรือเจลปิโตรเลียม จึงควรใช้แต่น้อยและควรนวดให้ซึมเข้าผิวหนัง แบบ “น้ำมัน” (oil) ให้ความชุ่มชื้นรองลงมา เช่น เบบี้ออยล์ มิเนรัล ออยล์ ควรทาหลังจากอาบน้ำและเช็ดตัวให้แห้งแล้ว “แบบครีม” (cream) นิยมใช้กันมาก เพราะไม่ค่อยเหนียวเหนอะหนะและหาซื้อได้ง่าย และแบบ “โลชั่น” (lotion) มีส่วนประกอบของน้ำมากกว่าน้ำมัน ให้ความชุ่มชื้นน้อยที่สุดแต่ก็เหนียวเหนอะหนะน้อยที่สุดด้วย

การเลือกใช้ครีมทาผิวจึงต้องคำนึงว่าทาแล้วชุ่มชื้นพอหรือไม่ ผิวมันขึ้นเล็กน้อยหรือมากเกินไป หรือไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิว นอกจากนี้ไม่ควรมีส่วนผสมของน้ำหอม สารกันแดดหรือสารกันเสีย รวมทั้งหากใช้แล้วเกิดผื่นก็ควรหยุดใช้ทันทีและรีบมาพบแพทย์นอกจากการทาครีมให้กับผิวแล้ว

การให้อาหารสำหรับผิวก็เป็นเรื่องสำคัญ มีคำแนะนำว่าควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว จะทำให้ผิวมีสุขภาพดี ส่วนอาหารในธรรมชาติที่บำรุงผิวก็มีหลายอย่าง ซึ่งมักมีวิตามินหรือสารต้านอนุมูลอิสระเป็นส่วนประกอบ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ซึ่งมักพบในผักผลไม้รสเปรี้ยวต่าง ๆ เช่น ส้ม มะนาว หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักสีส้มที่มีสารเบตาแคโรทีน เช่น แครอท ผลทับทิมหรือน้ำทับทิมมีสารที่ช่วยให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงผิวหนังแข็งแรง ในปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ซึ่งมีส่วนประกอบของ ไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งช่วยลดผิวแห้ง ผิวหนังอักเสบ ในถั่วชนิดต่าง ๆ ก็มีซิลีเนียม ช่วยสร้างสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด เช่นเดียวกับสารในชาเขียว

ส่วนการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายกับผิว จะเน้นที่การเกิดมะเร็งผิวหนัง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากแสงแดด มะเร็งชนิดนี้เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะคือ การที่ผิวโดนแดดสะสมเป็นเวลานาน และผิวที่โดนแดดแรง ๆ ในระยะสั้น นั่นแสดงว่า การนอนอาบแดดก็อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้

จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดตั้งแต่ช่วงเวลา สิบโมงเช้าถึงบ่ายสอง แต่หากต้องสัมผัสกับแสงแดด ควรป้องกันด้วยการใส่ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม สวมแว่นกันแดด ทาครีมกันแดดที่มี SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป แนะนำให้ทาหนา ๆ และให้ทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ สารหนูในยาหม้อ กรรมพันธุ์ แผลเรื้อรัง การโดนความร้อนนาน ๆ ติดเชื้อไวรัสบางชนิด หรือการฉายรังสี

ฉะนั้น เราจึงควรหมั่นสังเกตผิวหนังทั้งในและนอกร่มผ้าว่ามีจุดหรือแผลที่ผิดปกติ แผลเรื้อรัง ผิวที่มีเลือดออกง่าย เจ็บ คัน แสบ เป็นสะเก็ด มีไฝโตเร็วผิดปกติ และหากพบความผิดปกติดังกล่าวให้รีบมาพบแพทย์ผิวหนังโดยเร็ว 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดย พญ.สุทธินันท์ วิชญาณรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/37958