Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 15 พ.ค. 2557

เอกสารแนบ

          /data/content/24250/cms/e_ckoprvx23678.jpg

          แม้ว่าหลักการลดน้ำหนักหลากหลายวิธียอดฮิต มักจะมีการแนะนำให้ “ควบคุมอาหาร” ก็ตาม แต่กลับมีหลายคนเข้าใจผิดหรือเลือกใช้วิธีลัดด้วย “การอดอาหาร” เพื่อจะได้ติดลบพลังงานเร็วขึ้น แต่วิธีนี้กลับเป็นวิธีที่ค่อนข้างปฏิบัติยากและไม่ได้ผล โดยปลัดสธ. ออกมาเตือนวัยรุ่น อย่าอดอาหารเช้าลดน้ำหนัก เพราะไม่ได้ผล อาจเสี่ยงอ้วนเพิ่ม เพราะจะหิวหนักขึ้น และเพราะเหตุใด วิธีการอดอาหารจึงไม่ได้ผลในการลดน้ำหนัก วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกัน

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากรทั่วประเทศ พ.ศ. 2556 พบว่า กลุ่มเยาวชน มีอัตราการบริโภคอาหารครบ 3 มื้อ ลดลงร้อยละ 0.5 ในขณะที่ ประชากรกลุ่มอื่นมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุ 6 - 14 ปี ที่เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 13 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี ทั้งนี้ เตือนวัยรุ่น อย่าอดอาหารเช้าเพื่อลดน้ำหนัก เนื่องจากจะส่งผลเสีย ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ หิวหนักขึ้น หงุดหงิดง่าย และเสี่ยงอ้วนง่ายกว่าเดิม จากการกินจุบจิบ กินชดเชย

          ซึ่งรายงานเรื่องการลดน้ำหนักอย่างไร ไม่เสียสุขภาพ โดยดร.สุวิมล ทรัพย์วโรบล นักกำหนดอาหารวิชาชีพ USA ได้อธิบายถึงหลักการง่ายๆของการอดอาหารแต่กลับทำให้อ้วนว่า

          ทั้งนี้เพราะร่างกายของเรามีระบบการควบคุมการใช้พลังงาน ดังนั้นการติดลบพลังงานโดยการอดอาหาร จะส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แค่เพียงช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นร่างกายจะลดระดับการใช้พลังงานลงเหมือนกับที่คอมพิวเตอร์เข้าสู่ safe mode เพื่อลดการใช้พลังงานในเวลาที่ต้องประหยัด หรือเมื่อมีพลังงานจำกัด ทำให้ส่วนต่างของพลังงานที่ติดลบหรือขาดทุนอยู่ลดลงตามไปด้วย จนกระทั่งระดับการใช้พลังงานเท่ากับพลังงานที่ได้รับจากอาหาร น้ำหนักตัวก็จะคงที่ 

          และที่สำคัญคนส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถอดอาหารได้นาน ดังนั้นเมื่อไม่สามารถทนอดอาหารได้ ก็จะหันกลับมารับประทานเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม ทำให้ร่างกายนำพลังงานส่วนที่เหลือไปเก็บไว้ในรูปของไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้กลับมาอ้วนเหมือนเดิม โดยเราเรียกระบบนี้ว่า “โยโย่เอฟเฟคท์ (yo-yo effect)” เป็นผลให้คนทั่วไปที่ลดน้ำหนักผิดวิธีไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ บางคนนั้นมีน้ำหนักมากกว่าช่วงที่เริ่มอดเสียอีกก็มี

          ตัวอย่างเช่น คุณเป็นคนที่ต้องการใช้พลังงาน 1,500 กิโลแคลอรีต่อวัน แต่ตั้งใจอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก จึงเริ่มอดอาหาร โดยรับประทานแค่ 1,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ทำให้ได้พลังงานน้อยกว่าที่ต้องใช้ 500 กิโลแคลอรีต่อวัน ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ พลังงานจะติดลบ 3,500 กิโลแคลอรี (500 กิโลแคลอรี x 7 วัน) น้ำหนักตัวจะลดลงประมาณครึ่งกิโลกรัม หากสามารถอดอาหารแบบนี้ต่อไปได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ น้ำหนักจะลดลงหนึ่งกิโลกรัม (500 กิโลแคลอรี x 14 วัน เท่ากับ 7,000 กิโลแคลอรี) และหนึ่งเดือนน้ำหนักก็จะลดลงสองกิโลกรัม

          ฟังแล้วก็ชื่นใจ คนอดอาหารก็จะเริ่มมีกำลังใจในการอดต่อไป แต่น้ำหนักจะลดลงได้ไม่มาก เพราะร่างกายจะปรับลดความต้องการพลังงานลง จนเท่ากับพลังงานที่รับประทาน น้ำหนักตัวจะเริ่มคงที่ แต่หากกลับมารับประทาน 1,500 กิโลแคลอรี ส่วนเกิน 500 กิโลแคลอรี ก็จะถูกเก็บสะสมไว้ในร่างกายทันที น้ำหนักตัวก็จะเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นเหมือนเดิม

          ทั้งนี้ นายแพทย์ณรงค์ ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากลดน้ำหนักว่า สำหรับเด็กวัยเรียน และวัยรุ่นนั้น ควรรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้า เพื่อให้สารอาหารบำรุงสมอง ส่วนอาหารเช้าประเภทซีเรียล ไม่ควรรับประทานอย่างเดียว ควรเพิ่มนม ไข่ และสลัดผักผลไม้จะดีที่สุด เนื่องจากอยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโต มีความจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอ

          ได้ไขข้อสงสัยกันไปแล้ว ว่าวิธีการอดอาหารไม่ใช่วิธีการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ดังนั้นวิธีเดียวที่จะสามารถคงระดับการใช้พลังงานของร่างกายได้ก็คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค มีวินัยในการเลือกทานอาหารเพื่อสุขภาพ และที่สำคัญคือทำใจให้ผ่อนคลายไม่เครียด เพียงเท่านี้คุณก็จะมีรูปร่างที่สวยงาม ไปพร้อมกับการมีสุขภาพที่ดีแล้ว

 

 

          ที่มา : เว็บไซด์เดลินิวส์ออนไลน์

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24250-ไขข้อสงสัย%20ทำไมอดอาหารจึงทำให้อ้วน.html