Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 29 พ.ค. 2557

เอกสารแนบ

/data/content/24444/cms/e_bmorstuvwz26.jpg

          โรคตับอักเสบเรื้อรังก็เหมือนกับโรคเรื้อรังหลายชนิดคือ การดำเนินโรคช้า ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าตับจะเสียหาย จนเข้าสู่โรคตับระยะสุดท้าย ซึ่งมักจะมีภาวะแทรกซ้อนมากมายเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เมื่อเป็นโรคตับระยะสุด ท้ายนานพอ ก็จะเกิดมะเร็งตับในที่สุด

          รศ.นพ.ศตวรรษ ทองสวัสดิ์ สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันการรักษาทั้งสองโรคตับอักเสบจากไวรัส บี (B) และ ซี (C) น่าพอใจมากแล้ว ไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบ และเกิดโรคตับมีหลายตัว เรียงตามอักษรโรมันคือ เอ (A) บี (B) ซี (C) ดี (D) และ อี (E) แต่ที่ทำให้เกิดเป็นตับอักเสบเรื้อรัง มีเพียง 2 ชนิดคือ บี (B) และ ซี (C)

         ไวรัสตับอักเสบ บี ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับ และทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ เมื่อเป็นโรคนี้ในระยะเฉียบพลันแล้ว มีโอกาสหายขาดได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

        แต่เมื่อเป็นโรคตับระยะสุดท้าย คือ ตับแข็งที่เต็มไปด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องมานน้ำ หลอดเลือดดำของหลอดอาหารพองขอดแล้วแตกออก เกิดเลือดออกจากทางเดินอาหาร ค่าใช้จ่ายจะสูงมหาศาล และหากป่วยมะเร็งตับรายจ่ายยิ่งมากเกินบรรยาย

         แต่โชคดีที่ว่าตับเป็นอวัยวะอัศจรรย์ ถ้าไม่มีความเสียหายซ้ำๆ ถ้ากำจัดไวรัสออกได้ ตับก็ฟื้นฟูตัวเองจนเกือบปกติได้ โอกาสเป็นมะเร็งก็จะค่อยๆ ลดลงเท่าคนปกติ

          ปัญหาคือ คนส่วนมากไม่รู้เลยว่าตัวเองติดเชื้ออยู่ การจะรู้ต้องไปเจาะเลือดตรวจ ปัจจุบันตรวจได้จากเลือดที่ปลายนิ้ว และรู้ผลเกือบทันที

           ไวรัสตับอักเสบ ซี ในประเทศไทยขณะนี้รักษาให้หายได้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และแม้จะ ไม่หาย ก็ช่วยชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลงได้ ส่วนต่างประเทศก็มียาใหม่ๆ และได้ผลเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว

          โรคนี้เป็นภัยเงียบที่แฝงอยู่ จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อตรวจเลือดว่ามีเชื้อ หรือไม่

          เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ติดต่อทางเลือด น้ำเชื้อและน้ำหลั่งอย่างอื่นๆ ติดต่อได้โดยการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เจาะหู ใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกัน รักร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อ สัมผัสเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง ผ่านเข้าทางบาดแผล และแม่ที่มีเชื้อติดต่อไปยังลูกได้ขณะคลอด

         เชื้อนี้ไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ อาหาร น้ำดื่ม การให้นม หรือการจูบถ้าปากไม่เป็นแผล

         อาการของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี มีลักษณะตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปัสสาวะสีเข้ม

         หากตรวจพบว่าเป็นตับอักเสบจากไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรักษา

 

 

 

          ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24444-"ตับอักเสบเรื้อรัง"%20ระยะสุดท้ายสู่มะเร็ง.html