Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 9 มิ.ย. 2557

เอกสารแนบ

         /data/content/24579/cms/e_cehikpqw1258.jpg

          เรื่องการคุมกำเนิดไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่อีกต่อไป วัยรุ่นหรือหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ก็ต้องทำความเข้าใจวิธีการคุมกำเนิดที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงยางอนามัย การรับประทานยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องทำความเข้าใจและพูดคุยกับบุตรหลานได้ เพื่อป้องกันและลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและนำไปสู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย

          ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์" อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปี 2555 มีวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 365 คน โดยมีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรวันละ 10 คน วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความสำคัญช่วงหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ปัจจุบันเด็กไทยก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วขึ้น ทั้งในเพศหญิงและชาย และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะร่างกายเท่านั้น ยังเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ด้วย

          จากการที่วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น โดยมีสาเหตุคือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์ หรือเรียกว่าเป็นความล้มเหลวจากวิธีการคุมกำเนิดที่เลือกใช้นั่นเอง ถึงแม้ว่าถุงยางอนามัยและยาเม็ดคุมกำเนิดจะเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง แต่สำหรับในกลุ่มวัยรุ่น การใช้ถุงยางอนามัยและยาเม็ดคุมกำเนิดที่ไม่ถูกวิธีมีโอกาสสูง เช่น การลืมรับประทานยา การใส่และถอดถุงยางอนามัยไม่ถูกวิธี เป็นต้น ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่ซับซ้อน การแก้ไขจึงจำเป็นต้องมองปัญหาอย่างรอบด้าน และอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะทางด้านความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติต่อวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ กรมอนามัย ได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นภายใต้แนวคิด "เข้าใจ เข้าถึง ช่วยเหลือ"

          โดยเน้นการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่กลุ่มเป้าหมายทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองและวัยรุ่น ในการเตรียม/data/content/24579/cms/e_abdefpr13489.jpgการป้องกัน เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับเพศศึกษาและทักษะชีวิตในโรงเรียน การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มวัยรุ่น เน้นการสร้างระบบบริการที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มวัยรุ่น ทั้งบริการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ บริการคุมกำเนิดที่เข้าถึงง่าย และระบบการดูแลช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ลดปัญหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2557 กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น โดยการสนับสนุนการให้บริการวิธีคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร ด้วยการใส่ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิดแก่วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ให้กับสถานบริการเครือข่ายของ สปสช.ทั่วประเทศ

          ด้านน.พ.กิตติศักดิ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ภารกิจหนึ่งที่สำคัญของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ คือ การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์แก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย ตัววัยรุ่นเอง พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู บุคลากรสาธารณสุข ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ในสังคม เรื่องการคุมกำเนิดเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เบื้องต้นต้องสร้างความเข้าใจให้ได้ก่อนว่า การคุมกำเนิดไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะผู้ใหญ่ แต่วัยรุ่นเองก็ต้องมีความรู้และเข้าถึงบริการการคุมกำเนิดด้วย จากสถิติปี พ.ศ.2555 ที่พบว่าแม่วัยรุ่นคลอดบุตรปีละประมาณ 130,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นการตั้งครรภ์ซ้ำสูงถึงร้อยละ 11 มาตรการในการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นที่สำคัญตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก คือ การส่งเสริมให้แม่วัยรุ่นได้เข้าถึงเวชภัณฑ์คุมกำเนิดกึ่งถาวร ซึ่งได้แก่ ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง โดยห่วงอนามัย คุมกำเนิดได้ 5 ปี สำหรับยาฝังคุมกำเนิดมีให้เลือก 2 ชนิด ได้แก่ ชนิด 2 หลอดคุมกำเนิดได้ 5 ปี และชนิด 1 หลอดคุมกำเนิดได้ 3 ปี ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้การฝังยาและถอดยาง่ายและเร็วขึ้น

          นอกจากนี้ กรมอนามัยยังได้สนับสนุนโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 835 แห่ง จัดตั้ง "คลินิกวัยรุ่น" ตามแนวทางมาตรฐานบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่น/data/content/24579/cms/e_bhikmopqrwy5.jpgและเยาวชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตร การบริการคุมกำเนิด การดูแลแม่วัยรุ่นอย่างเป็นองค์รวม นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่พนักงานของบริษัทหรือสถานประกอบการที่มีบุตรหลานอยู่ในช่วงวัยรุ่น ในหัวข้อ "เรื่องเพศคุยได้" เพื่อสร้างความเข้าใจถึงวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การใช้เวชภัณฑ์คุมกำเนิดที่ถูกต้อง เช่น การให้ความรู้ถึงวิธีการกินยาคุมกำเนิด คำแนะนำเมื่อลืมกินยาคุมกำเนิด หรือการเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่เหมาะสมในแต่ละราย สำหรับผู้เริ่มใช้ยาคุมกำเนิดควรเริ่มที่มีขนาดต่ำ เพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในกรณีที่มีเลือดออกกะปริดกะปรอยจากการใช้ยาคุม แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาคุมกำเนิดที่มีระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นและส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถพูดคุยเรื่องเพศกับบุตรหลานได้ มาร่วมกันสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้การคุมกำเนิดเป็นเรื่องใกล้ตัว

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง 

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24579-เรียนรู้การคุมกำเนิดอย่าง%20'เข้าใจ%20เข้าถึง%20ช่วยเหลือ'.html