Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 8 ก.ค. 2557

เอกสารแนบ

         "ตั้งแต่เด็กเล็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ หลายท่านเคยมีเลือดออกกันบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ถ้ามีเลือดออกแบบผิดปกติ จะรู้ได้อย่างไร" ผศ.นพ.ชัยเจริญ ตันธเนศ ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าว

/data/content/24968/cms/e_efghjl145678.jpg

          การเกิดเลือดออกที่เราเคยประสบมา อาจเป็นแบบเลือดออกชัดเจน ที่เห็นเลือดไหลเป็นหยดๆ หรือในบางครั้งเลือดอาจจะไม่ได้ออกมาให้เห็นภายนอก แต่จะเป็นลักษณะเลือดที่ออกใต้ชั้นเยื่อบุและผิวหนัง ซึ่งทางการแพทย์เราแบ่งภาวะเลือดออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ

          1.ภาวะเลือดออกทางศัลยกรรม เกิดจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ เช่น ถูกมีดบาด ก็จะมีเลือดออกที่แผล หากแผลใหญ่มาก มีเลือดออกมาก จำเป็นต้องรักษาโดยวิธีทางศัลยกรรม เช่น การเย็บแผล เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย

          2.ภาวะเลือดออกผิดปกติ เกิดจากความผิดปกติของระบบห้ามเลือดในร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เลือดออกง่าย และช่วยห้ามเลือดเมื่อเกิดบาดแผล เมื่อระบบนี้เสียหน้าที่ไปก็จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติขึ้นได้ ภาวะเลือดออกผิดปกตินี้เมื่อเกิดขึ้นต้องมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาโดยเร็ว ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาเป็นหลัก

          ลักษณะเลือดออกผิดปกติที่สำคัญ ได้แก่ มีเลือดออกมากไม่สมเหตุสมผลกับสาเหตุ เช่น เดินไปชนขอบโต๊ะไม่แรง แต่กลับมีรอยช้ำขนาดใหญ่ ถูกมีดบาดเป็นแผลเล็กๆ แต่กลับมีเลือดออกมาก หรือมีเลือดออกเองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ เช่น เลือดออกในเยื่อบุตาขาว จุดเลือดออกหรือพรายย้ำ จ้ำเลือดที่ผิวหนัง หลายตำแหน่งพร้อมๆ กัน โดยไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น มีเลือดกำเดาพร้อมกับเลือดออกตามผิวหนัง ในเพศหญิงอาจพบปัญหาในรูปแบบของประจำเดือนที่ออกมากผิดปกติ

          เลือดออกในตำแหน่งที่พบไม่บ่อย เช่น เลือดออกในข้อต่อต่างๆ เลือดออกในอวัยวะภายใน ถ้าสงสัยว่ามีเลือดออกผิดปกติ ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม เช่น ตรวจเลือด ซึ่งผลการตรวจจะบอกได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด แพทย์จะได้รักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย

          เมื่อมีเลือดออกจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ตั้งสติให้ดีและหาวิธีห้ามเลือดในเบื้องต้น ซึ่งวิธีการห้ามเลือดมีหลายวิธี วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ยกอวัยวะที่มีบาดแผลให้สูงกว่าหัวใจ เพื่อลดการไหลเวียนของโลหิต และลดปริมาณการเสียเลือด และให้ใช้นิ้วมือหรือผ้าสะอาดวางทับบนแผล ใช้ผ้าพันแล้วรัดให้แน่นนาน 5-10 นาที ก็จะช่วยให้เลือดหยุดไหลได้ ในกรณีที่เลือดออกมากอย่างต่อเนื่อง ควรปฐมพยาบาลด้วยวิธีดังกล่าว แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24968-เลือดออกผิดปกติ%20รู้ได้อย่างไร.html