Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 19 ก.ย. 2557

เอกสารแนบ

กรมควบคุมโรคเตือน โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ป่วยแล้วตายทุกราย โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัข พบข้อมูลผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ากว่าร้อยละ 80 เกิดจากถูกสุนัขที่เลี้ยงไว้และสุนัขของเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนกัด...

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ป่วยแล้วตายทุกราย ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 7 ราย ใน 6 จังหวัด (ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว เชียงราย สงขลา และศรีสะเกษ) และปี 2557 นี้ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 พฤษภาคม 2557 มีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต 3 ราย อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสงขลา ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ที่สุนัขไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคครอบคลุม (น้อยกว่าร้อยละ 80) และผู้ที่เสียชีวิตไม่ไป
พบแพทย์หลังจากถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน

ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งสร้างพื้นที่ในชนบทและเขตเมืองทั่วประเทศให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งเป้าครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2558 เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า
ให้หมดไปจากประเทศภายในปี พ.ศ.2563 ตามเป้าที่อนามัยโลกและองค์การควบคุมโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศกำหนด โดยร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข
ตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป ครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของสุนัขที่มีในหมู่บ้าน

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ สัตว์นำโรคได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น ชะนี กระรอก กระแต กระต่าย ลิง ค้างคาว หรือแม้กระทั่งสัตว์เศรษฐกิจ วัว ควาย แพะ สัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย คือ สุนัข ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าร้อยละ 95 มีสาเหตุมาจากสุนัขกัดหรือข่วน รองลงมาคือ แมว ซึ่งสามารถตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในน้ำลายได้ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้า อาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่พบในคน ระยะฟักตัวอาจสั้นมาก คือไม่ถึงสัปดาห์ หรืออาจนานเกิน 1 ปี อาการในคนเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัดแล้วอาการคันลามไปส่วนอื่น ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด โอกาสที่จะเจ็บป่วยหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วนขึ้นอยู่กับ

1. จำนวนเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งบาดแผลที่ถูกกัดมีขนาดใหญ่ ลึกหรือมีบาดแผลหลายแห่งจะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้มาก 2. ตำแหน่งที่ถูกกัดหรือตำแหน่งที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกาย เช่น ศีรษะ หรือบริเวณที่มีปลายประสาทมาก เช่น มือหรือเท้า เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ระบบประสาทได้ง่าย 3. อายุของคนที่ถูกสุนัขกัดหรือข่วน เช่น เด็กและผู้สูงอายุจะมีความต้านทานต่อโรคพิษสุนัขบ้าต่ำกว่าคนหนุ่มสาว และ 4. สายพันธุ์ของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าเป็นสายพันธุ์จากสัตว์ป่า จะมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์จากสัตว์เลี้ยง

การป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า คือ 1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยงครั้งแรก ตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี แม้จะเป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านเพราะอาจถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด
ขณะที่เห่าบริเวณช่องรั้วบ้าน หรือถูกกัดขณะเจ้าของเปิดประตูบ้านโดยที่เจ้าของไม่ทราบ หรือจากสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ 2. ปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด (อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ) 3. เมื่อถูกสุนัขกัด
ให้ล้างแผลให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์ ส่วนสุนัขที่กัดให้ขังดูอาการเป็นเวลาอย่างน้อยเป็นเวลา 10 วัน

"โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อ และมีอาการแล้ว เสียชีวิตทุกราย ป้องกันได้ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดคาถา 5 ย ถ้าถูกสุนัขหรือสัตว์กัดข่วน ให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา
หาหมอ หรือรีบไปพบแพทย์ทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน 
สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590 3177-78 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นายแพทย์โสภณกล่าว

อ้างอิง: http://www.thairath.co.th/content/451031