Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 19 ก.ย. 2557

เอกสารแนบ

         ช่วงเทศกาลกินเจ พ่อค้าแม่ค้ามักมีการปรุงประกอบอาหารจำหน่ายเป็นจำนวนมาก การปรุงประกอบที่ไม่สะอาด ไม่ถูกหลักโภชนาการอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ กรมอนามัยจึงแนะหลัก 4 ล. เพื่อสุขภาพที่ดี ดังนี้
 

          1. ล.ล้าง ต้องล้างวัตถุดิบที่นำมาปรุงประกอบอาหารเจ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ให้สะอาดเพื่อกำจัดยาฆ่าแมลง โดยการล้างด้วยน้ำไหล 2 นาที หรือแช่ด้วยน้ำเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยตรงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตหนึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร โดยแช่นาน 15-30 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าอีก 2 ครั้ง สำหรับผักกาด กะหล่ำปลี ควรคลี่ใบและล้างให้สะอาด

          2. ล.ลด อาหารเจที่ปรุงเองหรือปรุงจำหน่าย ต้องคำนึงถึงการเติมสารปรุงแต่งอาหารที่ให้รสเค็มหรือหวาน มากจนเกินไป เพราะความเค็มจะมีโซเดียมสูงที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและทำให้ไตทำงานหนัก ส่วนความหวานจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ ผู้ปรุงจึงควรลดการเติม ซอส ซีอิ๊ว น้ำตาล และผู้บริโภคต้องเลือกอาหารเจที่มีรสชาติไม่เค็มหรือหวานจนเกินไป

          3. ล.เลี่ยง ควรเลี่ยงอาหารเจที่มีแป้งมาก และเลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอด เพราะมีไขมันสูง หากได้รับมากเกินความจำเป็นของร่างกายจะทำให้น้ำหนักเกินและอ้วนได้ ควรเน้นอาหารเจประเภทต้มที่มีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น ต้มจืดเจ ต้มยำเจ พะโล้เจ จับฉ่าย เป็นต้น

          4. ล.เลือก เนื่องจากอาหารเจเป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรเลือกอาหารที่มีถั่วหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น น้ำเต้าหู้ ฟองเต้าหู้ โปรตีนเกษตร นอกจากนี้ ควรเลือกซื้ออาหารเจจากร้านอาหารหรือแผงลอยมีป้ายสัญลักษณ์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) เพราะมีความสะอาด ปลอดภัย และมีอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ

ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า เทศกาลกินเจเป็นเทศกาลที่ต้องละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการขาดโปรตีนและธาตุเหล็ก โดยเฉพาะเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย แม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ในรูปแบบต่างๆ แต่เป็นโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์จากแป้ง ผู้บริโภคควรเลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้ง 3 มื้อ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และควรเลือกบริโภคอาหารประเภทธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ รวมทั้งเต้าหู้ โปรตีนเกษตรเป็นแหล่งโปรตีนทดแทน

 

          "ทั้งนี้ การกินเจนอกจากจะช่วยให้อวัยวะภายในทำงานน้อยลง ยังทำให้อวัยวะได้หยุดพัก สุขภาพกายโดยรวมจะดีขึ้น และช่วยให้มีสมาธิ พลังใจที่เข้มแข็ง ซึ่งการดูแลร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน ก็จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ที่ไม่เพียงแต่เฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น การดูแลสุขภาพของตนเองเป็นประจำด้วยการกินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว.

อ้างอิง: http://www.thairath.co.th/content/450796