Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 29 ต.ค. 2556

เอกสารแนบ

“เด็กนักเรียนไทยมีปัญหาทางพฤติกรรมอารมณ์มากถึง 2 ล้านคน” จากพาดหัวข่าวชวนตกใจ เมื่อหลายวันก่อน จนทำให้ใครหลายๆ คน เกิดความสงสัยขึ้นว่า เพราะอะไร เด็กไทยถึงมีปัญหาทางอารมณ์ และเราจะช่วยเหลืออนาคตของชาติให้เติบโตมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไรกัน

อ.พันธ์ศักดิ์ โรจน์วาธรรม ที่ปรึกษาด้านจิตเวชฯ บอกสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นไทย เกิดปัญหาทางพฤติกรรมอารมณ์มากขึ้นว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะทุนนิยมไม่ว่าจะเป็นสื่อ ซึ่งเด็กๆ รับได้หลายช่องทางทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงได้ทุกช่วงเวลาและรวดเร็ว ส่วนเกม ก็มีผลที่ทำให้เขามีพฤติกรรมทางอารมณ์ที่ฉุนเฉียวได้มากเช่นกัน

ประถมต้น ครอบครัวสำคัญ”

“เด็กที่มีพฤติกรรมทางอารมณ์ไม่ว่าผู้หญิง หรือผู้ชายก็มีโอกาสเกิดได้เท่าๆ กันหมด อันที่จริงแล้ว เด็กที่มีอายุ 6-9 ปี ซึ่งเป็นช่วงประถมต้น อารมณ์และพฤติกรรมจะขึ้นอยู่กับครอบครัวเป็นหลัก ถ้าครอบครัวอบอุ่น พ่อแม่ มีเวลาที่ให้ ได้รับการดูแลเอาใจใส่ก็จะพัฒนาไปในทางที่ดี แต่หากได้รับความรุนแรง ทั้งด้านการกระทำ วาจา มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นสะสม ซึ่งเด็กช่วงอายุนี้ จะเป็นวัยที่กำลังค้นหาลักษณะเด่น เฉพาะ และการเลียนแบบหรือรับข้อมูลต่างๆ และจดจำเข้าไปในสมอง หากช่วงนี้เด็กได้รับความรัก ความอบอุ่นจากครอบครัว ได้รับสื่อที่ดี อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่มั่นคง” อ.พันธ์ศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านจิตเวชฯ บอก

มัธยม เพื่อน คือ ปัจจัยหลัก”

อ.พันธ์ศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านจิตเวชฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงมัธยมจะเป็นช่วงวัยที่ฮอร์โมนเริ่มเปลี่ยนแปลง เด็กๆ เขาจะมีความรู้สึกอยากเป็นผู้ใหญ่ เริ่มมีความคิดและจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่า ตัวเองแข็งแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาใคร ถ้าหากพื้นฐานทางอารมณ์ของเขาดี ตั้งแต่เริ่มแรก ก็จะไม่มีผลกระทบเท่าไหร่ แต่ถ้าได้รับความกดดันทางอารมณ์มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ  เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอารมณ์เขาก็พร้อมที่จะระเบิดออกมา

เพื่อนมีส่วนสำคัญมาก ถือว่าเป็นปัจจัยหลักมากกว่าพ่อแม่เสียอีก ถ้ามีเพื่อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะเกิดผลดี มีอารมณ์ที่คงที่ แต่ถ้าอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงก็จะทำให้เกิดความรุนแรงทางอามรณ์ได้โดยไม่รู้ตัว อย่างเช่น การชักชวนเล่นการพนัน ติดสารเสพติด ทะเลาะวิวาท และเรื่องเพศ

 “ปัญหาทางอารมณ์ สู่โรคทางจิตเวชฯ”

ที่ปรึกษาด้านจิตเวชฯ บอกว่า อันที่จริงแล้ว ปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์อาจจะมีส่วนบ้าง ที่จะทำให้เกิดโรคทางจิตเวชฯ แต่คนที่จะเป็นนั้นต้องมีพื้นฐานของความผิดปกติทางสมอง หรือพันธุกรรมที่เกิดจากครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคด้วย ส่วนภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นเสมือนปัจจัยเร่งเท่านั้นเอง ถ้าประวัติทางพันธุกรรมไม่มีคนป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้ ก็ค่อนข้างปลอดภัย

2 อาการ เมื่อมีปัญหาด้านอารมณ์”

สังเกตได้ง่ายๆ หากวัยรุ่นมี 2 ลักษณะ ที่แตกต่างกันสุดขั้ว อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

1. มีพฤติกรรมแยกตัว ชอบอยู่คนเดียว ไม่ค่อยพูด  

2. มีพฤติกรรมหงุดหงิด ขี้โมโห เกรี้ยวกราด และอารมณ์รุนแรง

สำหรับช่วงวัยรุ่น ถือว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์ได้โดยที่ไม่รู้ตัว หากไม่ได้รับการรักษา และปล่อยให้เรื้อรัง ก็จะเริ่มแสดงอาการหนักขึ้นช่วงวัยทำงาน ทำให้รักษายากขึ้นด้วย

ปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์ รักษาได้”

เมื่อเริ่มสังเกตเห็นว่า คนใกล้ชิดมีอารมณ์รุนแรงอย่างเห็นได้ชัด หรืออีกด้านหนึ่งกลับชอบอยู่เดียว ไม่ค่อยพูด ควรหากุศโลบายเพื่อพาไปพบนักจิตวิทยาคลินิค หรือจิตแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะหากเป็นปัญหาพื้นฐานทางอารมณ์ก็สามารถบำบัดได้ ไม่ต้องไปพบจิตแพทย์ แต่การรักษาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญเมื่ออาการดีขึ้น ไม่ควรงดกินยาเอง แต่ควรได้รับคำแนะนำ และอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ด้วย หลังจากนั้นอาจจะหากิจกรรมที่เขาชอบไม่ว่าจะเป็นกีฬา ดนตรี ให้ทำโดยคนในครอบครัวมีส่วนร่วมด้วย เขาก็จะรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่น และมีความสุขขึ้น

เมื่อครอบครัว คือ หัวใจสำคัญพื้นฐาน ของการพัฒนาทางอารมณ์ให้กับเด็กๆ คงไม่ใช่เรื่องยากนัก ที่เราจะหันมาช่วยกันดูแลลูกหลานไทยให้มีสุขภาพใจทีดีขึ้น

 

 

เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/special_report/37269