Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 1 พ.ย. 2556

เอกสารแนบ

 

 

คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหารุนแรง ส่งผลร้ายต่อสุขภาพเด็กระยะยาวและเกิดภาวะแทรกซ้อน

ผศ.พญ.พัชราภา ทวีกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคอ้วนถือเป็นปัญหาคุกคามสุขภาพไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งหากเด็กต้องเผชิญโรคอ้วนตั้งแต่ยังเด็ก และไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้ปัญหาโรคอ้วนยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะเกิดผลร้ายต่อสุขภาพเด็กในระยะยาวและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ เด็กอ้วนเสี่ยงต่อการหยุดหายใจเมื่อหลับสนิท มีปัญหาออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงขณะนอนหลับ ส่งผลต่อการเจริญเติบโต มีอาการปวดศีรษะ ปัสสาวะรดที่นอน ซน สมาธิสั้น ระดับสติปัญญาต่ำ และอาจเป็นมากจนมีการทำงานของหัวใจและปอดแย่ลง ทำให้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับ

ผศ.พญ.พัชราภากล่าวต่อว่า โรคที่อาจพบได้อีก คือ กระดูกและข้อผิดปกติ น้ำหนักที่มากเกินวัยของเด็ก จะกดลงบนกระดูกและข้อต่างๆ ทำให้เกิดภาวะขาโก่ง เข่าผิดรูปร่าง ปวดข้อต่างๆ อาจมีขาสั้นข้างยาวข้างได้ โรคกลุ่มอาการเมตาบอลิก ประกอบด้วย ภาวะอ้วนลงพุง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ และความดันโลหิตสูง ส่งผลให้มีหัวใจโต หัวใจวาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ไขมันจะไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแข็ง เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดในสมองตีบทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้

"นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหารและตับ เด็กอ้วนเสี่ยงมีนิ่วในถุงน้ำดีได้ง่าย มีไขมันสะสมในตับมาก ทำให้เกิดตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับได้ เด็กอ้วนมักมีผิวหนังหนาและดำคล้ำ มีแผลจากการเสียดสี ติดเชื้อที่ผิวหนังได้ง่าย และปัญหาด้านสุขภาพจิต ที่มักถูกเพื่อนล้อเลียน ประกอบกับความล้มเหลวด้านการเรียนและระดับสติปัญญาที่ด้อยกว่า ทำให้เกิดปัญหาในการเข้าสังคม เป็นโรคซึมเศร้า บางครั้งถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย จึงจำเป็นต้องดูแลให้เด็กมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลง" ผศ.พญ.พัชราภากล่าว

 

 

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/37331