Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 6 พ.ย. 2556

เอกสารแนบ

'สะเก็ดเงิน' ไม่ใช่โรคภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคติดต่อ แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบลงได้

เริ่มต้นเพียงจุดแดงๆ คล้ายยุงกัดที่หน้าอก 5-6 จุด ผ่านไปราว 2 สัปดาห์ก็กระจายทั่วร่างทั้งแผ่นหลัง เข่า ข้อศอกและหนังศีรษะ พร้อมด้วยอาการคัน ส่วนจุดแดงก็มีขุยหรือสะเก็ดขาวติดอยู่ บางส่วนอย่างที่ข้อมือก็ขยายตัวเป็นปื้น ต่อมาได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นอาการของโรคสะเก็ดเงิน

 

ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง สาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า อาการของโรคใกล้เคียงกับอาการผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อ ทำให้บางครั้งการวินิจฉัยของแพทย์อาจทำได้ยาก หรือใช้เวลานานกว่าจะรู้ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่

ความต่างระหว่างสะเก็ดเงินกับผิวหนังอักเสบอยู่ตรงที่ จุดที่เกิดอาการและความหนาของผื่น โดยรอยผื่นแดงของสะเก็ดเงินจะเป็นปื้นหนา รวมถึงพบได้ทั่วไป เช่น ข้อพับ ขาหนีบ เข่า ข้อศอก มือทั้งฝ่ามือและหลังมือ หนังศีรษะ แผ่นหลัง ขณะที่ผิวหนังอักเสบจะเกิดเฉพาะบริเวณที่มีการสัมผัสกับสิ่งที่แพ้เท่านั้น หรือเมื่อไม่ได้รับสิ่งกระตุ้นก็จะไม่เกิดอาการ

โรคผิวหนังชนิดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ในปัจจุบันเองก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม หรือการติดเชื้อบางอย่างที่ไปกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้มีผื่นผิวหนังหนา ลอกเป็นสะเก็ด และมีขุยเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้เทียบต่อประชากร 100 คน จะพบถึง 2 คน หรือรวมๆ แล้วมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน

"คนไข้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลทั่วไปได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็น ว่ายน้ำสระเดียวกัน กินอาหารร่วมโต๊ะ ใช้สิ่งของร่วมกัน ก็ไม่ทำให้ติดต่อถึงกัน แต่ส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองเป็นโรคน่ารังเกียจและไม่อยากเข้าสังคม ความคิดแบบนี้ไม่ถูกต้อง" คุณหมอกล่าวย้ำ

ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ แม้การรักษาจะไม่หายขาด 100% แต่อย่างน้อยก็สามารถควบคุมอาการคันและการกระจายตัวของผื่นด้วยยากิน ยาทา ยาฉีด หรือการฉายแสงแดดเทียม เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่กับโรคได้อย่างคนปกติ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องปรับวิถีชีวิตและอาหารการกิน โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลต่อโรค เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์สีแดงเพราะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการคันหรือผื่นขึ้นได้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารพิเศษ เนื่องจากกระบวนการเกิดโรคนี้ไม่ได้มีความ สัมพันธ์กับสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ ในกรณีที่ผู้ป่วยค่อนข้างอ้วนอาจจะต้อง พิจารณาควบคุม น้ำหนักเนื่องจากจะทำให้เกิดความยากลำบากในการดูแลรักษาผื่นที่เกิดตามรอยพับต่างๆ ของผิวหนัง

คุณหมอแนะนำให้เน้นการบริโภคผักหลากสี เนื้อปลา รวมถึงทำความเข้าใจและยอมรับด้วยว่า การเลือกกินอาหารดังกล่าว ไม่ได้ทำให้โรคหายแต่ทำให้อาการลดลง และมีชีวิตอยู่กับโรคได้มีความสุข

ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด การอดนอนและอากาศหนาวหรือแห้งไป ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินแสดงอาการ หากปรับพฤติกรรมให้นอนเร็วขึ้นเพื่อให้ร่างกายพักผ่อนเพียงพอ ปล่อยวางปัญหาทางจิตใจจากความเครียดลงได้ รวมถึงดูแลสุขภาพออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อนั้นอาการก็จะทุเลาลงโดยไม่ต้องพึ่งยาได้เช่นกัน

แม้สะเก็ดเงินรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่เมื่อควบคุมปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคให้ได้ ในบางคนอาจไม่เกิดอาการคันหรือผื่นไปนานเป็น 10-20 ปี หรือตลอดชีวิตเลยก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับยีนในร่างกายของแต่ละคนว่าจะดื้อต่อการควบคุมมากหรือน้อยนั่นเอง

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/37416