Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 20 ธ.ค. 2556

เอกสารแนบ

 

โพลชี้วัยรุ่น-วัยแรกทำงาน เกือบ 40% อยากใช้เวลาว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เพื่อเล่นเน็ตเล่นเกมมากกว่าไปออกกำลังกาย เผยฟุตบอล แบดมินตันกีฬาสุดฮิตในการออกกำลังกาย นิยมเล่นในสนามกีฬาที่เรียนที่ทำงานมากสุด ใช้เวลาเฉลี่ย 3-4 วันต่อ 1 สัปดาห์มากสุด

สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของวัยรุ่นไทย อายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 1,064 คน ระหว่างวันที่ 11-16 ธ.ค.พบว่า พฤติกรรมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย ร้อยละ 60.06 ระบุว่า ออกกำลังกายทั้งการเล่นกีฬาและวิธีอื่นๆ ควบคู่กัน ร้อยละ 17.95 ระบุว่า ออกกำลังกายโดยวิธีต่างๆ เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เล่นกีฬา ร้อยละ 11.28 ระบุว่า ออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬาเพียงอย่างเดียว และร้อยละ 10.71 ไม่ได้ออกกำลังกายทั้งการเล่นกีฬาและวิธีอื่นใดเลย เมื่อจำแนกเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่เล่นกีฬา ร้อยละ 41.54 เล่นกีฬาบ้าง ร้อยละ 29.79 เล่นกีฬาเป็นประจำ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ออกกำลังกายโดยวิธีต่างๆ นั้น เมื่อจำแนกแล้ว ร้อยละ 44.27 ระบุว่า ออกกำลังกายบ้าง ขณะที่ หนึ่งในสามหรือร้อยละ 33.74 ออกกำลังกายเป็นประจำ

สำหรับประเภทกีฬาที่กลุ่มตัวอย่างนิยมเล่นเพื่อเป็นการออกกำลังกายสูงสุด 5 อันดับ คือ ฟุตบอล คิดเป็นร้อยละ 84.98 แบดมินตัน คิดเป็นร้อยละ 81.82 วอลเลย์บอล คิดเป็นร้อยละ 80.11 บาสเกตบอล คิดเป็นร้อยละ 78.26 และฟุตซอล คิดเป็นร้อยละ 75.1 ส่วนวิธีการออกกำลังกายนอกเหนือจากการเล่นกีฬาที่กลุ่มตัวอย่างนิยมสูงสุด 5 อันดับคือ การเดิน/วิ่ง คิดเป็นร้อยละ 86.39 ออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์ เช่น ราวโหน สายพาน จักรยาน คิดเป็นร้อยละ 82.39 กายบริหาร เช่น วิดพื้น ซิตอัป คิดเป็นร้อยละ 78.55 เต้นประกอบจังหวะ เช่น แอโรบิก ลีลาศ คิดเป็นร้อยละ 75.3 และเล่นโยคะ คิดเป็นร้อยละ 71.1

ด้านความถี่และระยะเวลาในการเล่นกีฬา-ออกกำลังกาย ร้อยละ 39.89 เฉลี่ย 3-4 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ ร้อยละ 39.79 เฉลี่ย 30-60 นาที ส่วนสถานที่นิยมใช้เล่นกีฬา-ออกกำลังกายสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สนามกีฬาในสถาบันการศึกษา/ที่ทำงาน คิดเป็นร้อยละ 83.26 ลานกีฬาชุมชน คิดเป็นร้อยละ 81.05 และภายในบริเวณที่พักอาศัย คิดเป็นร้อยละ 77.79 สำหรับเหตุผลสำคัญ 5 อันดับสูงสุดที่กลุ่มตัวอย่างเล่นกีฬา-ออกกำลังกายคือ ต้องการให้ร่างกายแข็งแรง คิดเป็นร้อยละ 85.05 มีปัญหาสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 81.68 ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ คิดเป็นร้อยละ 79.16 ต้องการลดน้ำหนัก คิดเป็นร้อยละ 76.84 และบุคคลใกล้ชิด/เพื่อนฝูงชักชวนให้เล่น คิดเป็นร้อยละ 74.24

สำหรับการเปรียบเทียบความต้องการระหว่างการเล่นกีฬา-ออกกำลังกายกับการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อมีเวลาว่างจากการเรียน/ทำงาน ร้อยละ 39.58 อยากใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกม/ใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าไปเล่นกีฬา/ออกกำลังกาย ขณะที่หนึ่งในสี่หรือร้อยละ 26.63 ระบุว่า อยากจะใช้เวลาว่างเพื่อเล่นกีฬา/ออกกำลังกายมากกว่า ส่วนร้อยละ 33.79 อยากทำทั้งสองอย่างพอๆ กัน

 

 

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/38137