Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 18 ต.ค. 2556

เอกสารแนบ

รับมือ 'ปิดเทอม' เน้นเสริมทักษะ ลูกมีส่วนตัดสินใจ

"ปิดเทอม" ช่วงเวลาที่เด็ก ๆ เฝ้ารอ เพราะจะได้ทำอะไรตามใจ ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ได้นอนตื่นสาย ไม่ต้องรีบเข้านอน ได้เล่นเกม ดูหนัง ดูการ์ตูนทั้งวัน ได้ทำในสิ่งที่อยากทำที่ในช่วงเปิดเทอมทำไม่ได้ 

แต่ความรู้สึกนี้กลับตรงข้ามกันกับผู้ปกครอง โดยเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านเกิดความกังวลใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่สิ่งเร้าต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือเกม เข้ามาดึงลูกให้ติดได้ง่าย

                           

 

ดูแลลูกๆ อย่างไรดีในช่วงปิดเทอม?

          พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพ จิตเด็กและวัยรุ่นราช นครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เด็กยุคนี้เป็นเด็กยุคไอที กิจกรรมโปรดปรานในช่วงปิดเทอมส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้น การใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทข่าวเล่นเฟซบุ๊ก รายงานตัวทางออนไลน์ ไม่หลับไม่นอนทั้งคืน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างความกังวลให้กับผู้ปกครอง ยิ่งถ้าบ้านไหนไม่มีกิจกรรมที่น่าสนใจให้กับลูกแนวโน้มที่เด็กจะใช้เวลาว่างอย่างไม่สร้างสรรค์ย่อมมีได้สูง

"วัตถุประสงค์จริงๆ ของการปิดเทอมคือ อยากให้ลูกได้มีเวลาอยู่กับพ่อ แม่ ผู้ปกครองบ้าง แต่ปัจจุบันการดำเนินชีวิต สถานการณ์เปลี่ยนไปเพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ฉะนั้นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นกับลูกจึงต้องคำนึงในหลายๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องของ ความปลอดภัย"

กิจกรรมที่เด็กสามารถทำได้ในช่วง ปิดเทอมนั้น มีตั้งแต่อยู่บ้านทำกิจกรรมในบ้าน หรือเรียนพิเศษ เพราะบางครอบครัวพ่อ-แม่ ทำงาน ที่บ้านไม่มีใครอยู่ ก็ส่งลูกไปเรียนพิเศษวิชาการต่างๆ หรือจะเป็นการเรียนที่ทำให้ตัวเด็กมีความคล่องแคล่วขึ้น  เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เย็บผ้า จิตอาสาช่วยงานในสถานที่ต่างๆ  ตลอดจน การไปทำงานพิเศษ มีรายได้เป็นรายวัน และอาจจะผ่อนคลายบ้างด้วยกิจกรรมดูหนัง เที่ยวห้างสรรพสินค้า หรือเที่ยวสวนสนุก

ในส่วนน้องๆ เด็กๆ  ถ้าเห็นชัดว่าเขาชอบอะไรก็ส่งเสริมเขาไปเลยในช่วงปิดเทอม เพราะยิ่งส่งเสริมไปเท่าไรทักษะก็จะยิ่งดี ถ้ายังไม่รู้ก็ส่งเสริมไปหลายๆ ทักษะ ให้เขาได้ทำอะไรในแต่ละวัน เขาก็จะสนุกและได้ใช้พลังงานเพราะเด็กเล็กพลังงานมีมาก เพราะถ้าให้อยู่บ้านโดยที่ไม่มีอะไรทำเขาก็จะเบื่อได้ 

อีกเรื่องหนึ่ง ที่พ่อแม่จะต้องดึงลูกออกมา คือ เรื่องของการเล่นเกมหรืออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ คอมพิวเตอร์  ถ้าลูกอยู่กับสิ่งนี้จะต้องให้ลูกลดและไปเพิ่มกิจกรรมอื่น ๆ ที่ลูกต้องออกสู่สังคมแทน เพราะการเล่นเกมคุมลำบาก เว็บไซต์ที่ไม่ดีก็มีมากมายไม่ว่าจะเป็นเว็บโป๊ เว็บการพนัน ซึ่งเข้าได้ง่ายการดูแลก็ทำลำบาก

สร้างทักษะชีวิตให้ลูกช่วงปิดเทอม

ให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง งานบ้านที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง เช่น จัดข้าวของของตัวเองให้เข้าที่ และภายในบ้าน เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ เพื่อกระตุ้นฝึกความรับผิดชอบตัวเอง รวมทั้ง ทำกับข้าว ไม่ต้องถึงขนาดไปเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหาร อาจจะชวนลูกเข้าครัวและถือโอกาสสอนให้ลูกทำกับข้าว โดยเริ่มจากเมนูง่ายๆ หรือเมนูโปรดของลูกก็ได้

เล่นกีฬา ช่น ว่ายน้ำ เพราะช่วงปิดเทอมมักได้ยินข่าวเด็กจมน้ำเสียชีวิตเป็นประจำ ซึ่งเป็นอุบัติเหตุสูงที่สุดในบรรดาอุบัติเหตุทั้งหมด โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือจะเป็นกีฬาชนิดอื่นๆ ที่ลูกสนใจ ไม่ว่าจะเป็น เทควันโด บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ฟุตบอล ไอซ์สเกต ขี่จักรยาน เพราะการเล่นกีฬาไม่เพียงแต่พัฒนาความแข็งแรงด้านร่างกายเท่านั้นแต่ยังพัฒนาสมองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการพัฒนาความเชื่อมั่นในตัวเอง การคิดอย่างมีเหตุผล การทำงานเป็นทีมและความสามัคคี

ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นดนตรีไทย หรือดนตรีสากล เพราะดนตรีนับเป็นกิจกรรมที่สร้างวินัย สร้างความอ่อนโยนและช่วยพัฒนาสมองไปในตัว

 ศิลปะ เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักใช้จินตนาการ ศิลปะก่อเกิดสุนทรียภาพ ความเบิกบานใจ เด็กจะได้ซึมซับความประณีต ความงดงาม จากงานศิลปะที่ได้พบเห็นหรือที่ได้ลงมือทำ ส่งผลให้มีจิตใจที่อ่อนโยน ไม่แข็งกร้าว

ทำงานพิเศษ นอกจากรายได้พิเศษแล้ว ยังเป็นการฝึกให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย มีความภาคภูมิใจในตนเอง รวมทั้ง เป็นการสะสมประสบการณ์นอกห้องเรียนเพื่อนำไปใช้ในการทำงานในอนาคต.

 "กิจกรรมในช่วงปิดเทอมไม่จำเป็นต้องเน้นในเรื่องของการเรียนหนังสือ  แต่เป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ กิจกรรมที่ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบตนเอง ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ในโรงเรียนไม่มีหรือทำไม่ได้ เป็นโอกาสอันดีที่ลูกจะได้ไขว่คว้าอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิต"

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/36916