Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 5 พ.ย. 2556

เอกสารแนบ

พอเริ่มอายุมากขึ้นปัญหาสุขภาพต่างๆ ก็ตามมาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครใช้ร่างกายอย่างทะนุถนอม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ดี ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง แต่หากใครละเลยแถมยังมีปัจจัยเสี่ยงเป็นของแถมคงต้องหาทางแก้ไขตั้งแต่วันนี้ เพราะบางทีอาจจะยังไม่สายจนเกินไป

เราๆ ท่านๆ คงทราบดีแล้วว่า ปัญหา "มะเร็ง" นั้น มีมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่านวัตกรรมการรักษาจะดีเพียงใด แต่หากเราไม่ดูแลร่างกาย ไม่ป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค ก็ไม่มีใครสามารถมาการันตีว่าถึงเวลานั้นคุณจะหายขาดได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะแย่ป้องกันดีกว่า

ที่ผ่านมา  มะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับหนึ่ง จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ภายในปี 2542-2554 นั้นมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ไปแล้ว 61,082 คน โดยพบว่า คนไทยนั้นเป็นโรคมะเร็งประมาณ 150 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

ขณะที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี 2563 หรือประมาณ 7 ปีข้างหน้า เราจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เกือบ 1.5 แสนราย และปี 2573 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า เราจะมีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 1.7 แสนราย

นี่เป็นเพียงการคาดการณ์ แต่ของจริงที่จะเกิดในอนาคตเชื่อว่าต้องมากกว่านี้แน่ๆ ลองไปดูว่า มะเร็งที่ต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษในช่วงที่เราอายุมากขึ้นนั้นมีอะไรกันบ้าง

1) มะเร็งตับ ปัจจุบันพบว่า มะเร็งชนิดนี้ พบมากอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ไวรัสตับอักเสบ ร้อยละ 75 - 80 โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีและซี มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงกว่าคนที่ไม่มีพาหะ 100-400 เท่า รู้แบบนี้ ต้องเลี่ยงสารก่อมะเร็งที่มีพิษต่อตับนั่นคือ สารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเกิดจากเชื้อราบางชนิด พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง เป็นต้น รวมทั้งตรวจว่าเรามีไวรัสตับอักเสบหรือไม่เพื่อจะได้รู้และป้องกันอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ หากเบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องผูก รู้สึกอ่อนเพลีย น้ำหนักลดลง มีอาการปวดชายโครงด้านขวาต้องไปพบแพทย์

2) มะเร็งปอด พบในเพศชายและเพศหญิงเกือบเท่ากัน แต่เพศชายจะพบมากกว่า ต้องขอเตือนไว้ว่า มะเร็ง ชนิดนี้ตรวจพบในระยะแรกได้ยาก ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือสิงห์อมควัน สารพิษจากแอสเบสตอส (แร่ใยหิน) ซึ่งยังใช้อยู่ในอุตสาหกรรมหลายชนิด ซึ่งสารชนิดนี้ไม่ได้ทำให้เราเป็นมะเร็งในระยะเวลาชั่วข้ามคืนแต่จะค่อยๆ สะสมจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด จากสถิติที่สำคัญคนที่สูบบุหรี่และทำงานกับฝุ่นแร่ใยหิน (เช่น ฝ้าเพดาน กระเบื้องมุงหลังคาที่ยังมีแร่ใยหิน ผ้าเบรก คลัตช์ เหมืองแร่ ฯลฯ) จะเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติ 90 เท่า หากไอ เสมหะมีเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อย่านิ่งนอนใจ

3) มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่พบมากที่สุดในหญิงไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่มีเพศสัมพันธ์กับชายหลายคน  มีกิ๊ก มีคู่นอนหลายคน รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ในตอนที่อายุน้อย ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เสี่ยงต่อเชื้อ HPV  ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก เชื้อ HPV นี้ ยังสามารถเกิดกับคนที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้เช่นกัน แนวทางสำคัญจึงอยู่ที่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ อย่าอาย เพราะเมื่อไม่ไปตรวจถ้าเป็นอาจสายเกินแก้

4) มะเร็งเต้านม แม้จะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 80-90% หากตรวจพบและทำการรักษาในระยะเริ่มแรก แต่เราก็ยังเห็นผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมมากขึ้น เหตุนี้ จึงขอเน้นย้ำให้ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ไปตรวจเต้านม ด้วยการทำแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้ง ป้องกันด้วยการเลี่ยงทานอาหารที่มีไขมันสูง การตรวจเต้านม ด้วยตัวเองเดือนละ 1 ครั้งเป็นประจำหลังหมดประจำเดือน ที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายมีภูมิป้องกันมะเร็งทุกชนิด รวมทั้ง ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้ถึง 37%

5) มะเร็งลำไส้และทวารหนัก จากอาหารที่ห่างไกลธรรมชาติ วิถีการกินในรูปแบบที่เปลี่ยนไปของคนในปัจจุบันโดยเฉพาะไขมันสูง ทำให้อัตราการเกิดมะเร็งลำไส้และทวารหนักมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตรวจ คัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงมีความจำเป็นโดย ควรเริ่มตั้งแต่อายุ 50 - 75 ปี  นอกจากนี้ ผู้ที่บิดา-มารดาหรือพี่น้องท้องเดียวกันมีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะขณะที่มีอายุน้อย ผู้ที่มีประวัติมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์อาจต้องเริ่มตรวจ คัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 50 ปี วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เชื่อถือได้และวงการแพทย์แนะนำ คือ การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (fecal occult blood testing) และการส่องกล้องทางทวารหนักและลำไส้ใหญ่ (sigmoidoscopy หรือ colonoscopy)

การหมั่นสังเกตตัวเอง การตรวจคัดกรองก่อนการเกิดโรค รวมทั้งการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เราหายขาดและไม่เสียชีวิตจากโรคนี้  ป้องกัน ดีกว่ารักษาแน่ๆ

 

 

                                                                                                                                                                      

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/37394