Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 27 พ.ย. 2556

เอกสารแนบ

 

แพทย์เตือนกลุ่มโรคเอ็มพีเอ็น "เลือดข้น-เกล็ดเลือดสูง-พังผืดในกระดูก" อันตราย เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต เสียชีวิต อนาคตยังเสี่ยงเป็นมะเร็ง ระบุรักษาไม่หาย แต่ถ้าปฏิบัติตัวถูกต้องก็อยู่ได้นาน

โรคเอ็มพีเอ็นเป็นกลุ่มของโรคเลือดที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด โดยเฉพาะ 3 โรคที่พบบ่อยคือ

1.โรคเลือดข้น เนื่องจากร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันบริเวณขาข้างใดข้างหนึ่ง และบริเวณปลายนิ้ว และทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ การรักษาจะให้ยาต้านเลือด

2.โรคเกล็ดเลือดสูง จะมีการอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ วูบบ่อยๆ หลอดเลือดอุดตัน ปวดบริเวณปลายนิ้ว บางกรณีกลายเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตครึ่งซีก ขาบวมและปวดข้างเดียว รักษาได้ด้วยการรับประทานยา

3.โรคพังผืดในกระดูก ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ แต่ต่อมาจะมีอาการม้ามโต แน่นท้อง อิ่มง่าย กินอาหารได้น้อย ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย อ่อนเพลียง่าย ตับอาจจะโตขึ้นทำให้แน่นท้องใต้ชายโครงขวา ต่อมาจะมีอาการคัน และเหงื่อออกตอนกลางคืน หากโรคอยู่ในระยะสุดท้ายอาจจะมีไข้ อ่อนเพลียมาก ผอมห้อง ปวดกระดูก ปวดตามเส้นประสาท ซึ่งการรักษาจะทำได้ด้วยการรับประทานยา การรับเลือด และการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับเลือดบ่อยๆ อาจจะเกิดภาวะเหล็กในร่างกายสูงและสะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ในกรณีที่ม้ามโตจะต้องรักษาด้วยการรับประทานยาลดขนาดม้าม หรือฉายรังสี และตัดม้าม

กลุ่มโรคเอ็มพีเอ็นสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมและมาเป็นโรคได้ในภายหลัง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งอัตราการเกิดโรคอยู่ที่ประมาณ 2-5 ต่อ 100,000 ประชากร โดยปัญหาร่วมของทั้ง 3 โรคคือภาวะหลอดเลือดอุดตัน โรคเกาต์ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของการรักษาในกรณีผู้ป่วยต้องรับเลือดนั้น บางรายต้องการเลือดเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขาดแคลน เพราะเลือดที่ใช้ต้องเป็นเลือดที่ผ่านการ กรองเม็ดเลือดขาวทิ้งไปแล้ว ขณะเดียวกันเทคโนโลยียังไม่สามารถกรองเหล็กออกจากเลือดได้ จึงทำให้ผู้ที่ได้รับเลือดเกิดภาวะเหล็กเกิน เหล็กสะสมตามอวัยวะต่างๆ

นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ กล่าวว่า กลุ่มโรคเอ็มพีเอ็นเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องก็สามารถมีชีวิตอย่างมีคุณภาพยาวนาน โดยต้องทำการตรวจติดตามอาการและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะภาวะหลอดเลือดอุดตัน ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว เช่น หลีกเลี่ยงการรับประทานฮอร์โมนเพศหญิง ยาคุมกำเนิด การนั่งหรือนอนท่าเดียวนานๆ งดสูบบุหรี่ รับประทานผัก งดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรคเหล่านี้แม้จะไม่นับว่าเป็นมะเร็ง แต่ก็สามารถกลายเป็นโรคมะเร็งได้ในอนาคต

 

 

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/37789