Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 17 มี.ค. 2557

เอกสารแนบ

ครอบครัวที่มีลูกอ้วน เคยสังเกตหรือไม่ครับว่า เวลาลูกนอนหลับ เป็นอย่างไร อาการบางอย่างขณะลูกนอนหลับ สามารถบอกสุขภาพการนอนของลูกได้ เช่น อ้าปากหายใจ กระสับกระส่าย นอนหลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน อาการที่พบได้บ่อยๆ และ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอ้วน มาปรึกษา คือ อาการนอนกรน ซึ่งเป็นอาการหนึ่ง ของปัญหาการนอน อันเป็นผลมาจากโรคอ้วน

 

/data/content/23464/cms/ghjltuv12359.jpg

          อาการนอนกรนในเด็กอ้วน มีความสำคัญอย่างไร

          อาการนอนกรน พบได้ทั้งในเด็กปกติที่ไม่อ้วน และพบได้บ่อยกว่า ในเด็กที่อ้วนตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรง ความสำคัญ คือ อาการนอนกรน เป็นอาการหนึ่ง ของภาวะที่เรียกว่า ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหมายถึง การไม่มีอากาศไหลผ่านทางเดินหายใจส่วนบน หรือ หยุดหายใจ ร่วมกับมีภาวะพร่องของระดับออกซิเจนในเลือด มีการนอนที่ผิดปกติเกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับ ในคนที่สุขภาพแข็งแรงทั่วไป 3 – 12 เปอร์เซ็นต์ อาจมีอาการนอนกรนเวลานอนหลับ แต่จะมีเพียง 1 – 3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่จะมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้น

          ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลเสียต่อสุขภาพการนอน

          สาเหตุที่ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง นอกจากเกิดจากความอ้วนแล้ว ยังอาจเกิดจากการที่ ต่อมทอนซิล หรือ ต่อมอะดีนอยด์โต หรือเป็นผลที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณผนังคอและหลังช่องปากทำงานน้อยลง โดยปกติในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อบริเวณผนังคอและหลังช่องปากจะทำงานช่วยให้ทางเดินหายใจส่วนบนเปิดโล่ง แต่ถ้ากล้ามเนื้อบริเวณนี้ทำงานบกพร่อง จะทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง อากาศผ่านเข้าได้น้อย เป็นผลให้ระดับของออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง สมองได้ออกซิเจนน้อยลง จะกระตุ้นให้เราตื่นเพื่อหายใจ ถ้าสังเกตการนอนจะเห็นว่า มีการหายใจเฮือก ตื่นบ่อยๆ หลับเป็นช่วงสั้นๆ

/data/content/23464/cms/fgknorwy3479.jpg

         อาการอื่นๆที่พบและการวินิจฉัยภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ

         อาการอื่นนอกจากนอนกรนได้แก่ การหยุดหายใจ สังเกตได้จากการไม่มีการเคลื่อนไหวของทรวงอกหรือท้อง นอนกระสับกระส่าย ละเมอ เหงื่อออก หรือบางรายมี ปัสสาวะรดที่นอน ในระหว่างวัน มักจะมีอาการที่เป็นผลสืบเนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอ เช่น ตื่นมาปวดศีรษะในตอนเช้า คลื่นไส้หรืออาเจียน ง่วงหลับผิดปกติในเวลากลางวัน อ่อนเพลีย เด็กวัยเรียน อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองและการเรียนรู้จดจำ เช่น สมาธิสั้น ความจำไม่ดี มีผลการเรียนไม่ดี ในบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคซนอยู่ไม่นิ่งร่วมกับสมาธิสั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าวและแยกตัวออกจากสังคม เด็กที่ไม่ได้รับการรักษามักมีลักษณะอ้าปากหายใจ เสียงขึ้นจมูก ในรายที่รุนแรงจะส่งผลให้การเจริญเติบโตช้า

         การยืนยันการวินิจฉัย กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ หรือ โสต ศอ นาสิก แพทย์ จะทำการตรวจและทดสอบการนอนหลับ พร้อมวัดระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยบันทึกภาพวิดีโอขณะลูกนอนหลับ ก็จะเป็นประโยชน์ช่วยในการวินิจฉัยของกุมารแพทย์ได้

         เด็กที่เป็นโรคอ้วนและมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง

         อาการแทรกซ้อนและโรคที่พบร่วมได้ ได้แก่ การง่วงหลับในเวลากลางวันมากผิดปกติ สมองมีความบกพร่องด้านการเรียนรู้จดจำ ปัญหาพฤติกรรม ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และคุณภาพชีวิต และยังเพิ่มความเสี่ยงในอนาคตของโรค เช่น ความดันโลหิตสูง การทำงานของหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อผนังหัวใจหนาตัวผิดปกติ ผนังหลอดเลือดแข็งตัวและความยืดหยุ่นลดลง และสุดท้ายยังทำให้เกิดโรคในกลุ่มอาการเมตาบอลิก ได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ และ ความดันโลหิตสูง

/data/content/23464/cms/adknopquy178.jpg

         จะดูแลรักษาภาวะนี้ได้อย่างไร

         การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ การควบคุมและลดน้ำหนัก ร่วมกับการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ หากมีต่อมทอนซิล หรือ ต่อมอะดีนอยด์โต แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือ ต่อมอะดีนอยด์ ร่วมด้วยหรือไม่ ในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเวลานอน ซึ่งจะช่วยให้อาการอุดกั้นทางเดินหายใจดีขึ้นและลดภาวะแทรกซ้อนลงได้ด้วย

         การควบคุมและลดน้ำหนักที่ปลอดภัยในเด็ก คือ การจัดอาหารและจำกัดพลังงานอย่างเหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การจำกัดพลังงาน ควรได้รับการดูแลโดยนักโภชนาการ หรือ กุมารแพทย์ สำหรับการใช้ยาและการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ต้องมีข้อบ่งชี้และอยู่ภายใต้คำแนะนำดูแลของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

         โรคอ้วน เป็นปัญหาและมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างมาก ปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้การดูแลรักษาเด็กที่มีโรคอ้วน ประสบความสำเร็จ คือ การให้ความสำคัญและความร่วมมือของผู้เลี้ยงดูเด็กและครอบครัว และต้องเริ่มตั้งแต่การให้โภชนาการที่เหมาะสมในหญิงตั้งครรภ์ จึงจะสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคอ้วนลงได้

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/23464-%20ลูกอ้วนและนอนกรน...เรื่องไม่ธรรมดา.html