Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 24 มี.ค. 2557

เอกสารแนบ

   /data/content/23547/cms/dehknuw36789.jpg

 

          "เด็ก" ที่เกิดมาในท้องแม่ เมื่อครบกำหนด 9 เดือน หากคลอดตามปกติ ส่วนหัวจะออกมาก่อน ส่วนที่จะออกมาหลังสุด คือ "เท้า" แต่กรณีคลอดแบบเอาเท้าออกมาก่อน ทางการแพทย์ถือว่าเป็นการคลอดผิดปกติ เกิดปัญหาคลอดติด ออกไม่ได้ บางรายถึงต้องผ่าตัดคลอด

          "เท้า" เป็นอวัยวะที่สำคัญยิ่ง วัยเด็กจะใช้เท้าตั้งไข่ ยืน เดินเตาะแตะได้ในช่วงประมาณเดือนที่ 9-12 เมื่ออายุเกิน 1-2 ขวบแล้ว เด็กจะเริ่ม "เดิน" ได้ด้วยตนเอง หลังจากนั้น "เท้า" จะทำงานหนัก จะถูกใช้ตลอดชีวิตตราบใดที่ไม่มีปัญหากระดูกข้อเท้า เข่า สะโพก หรือระบบกล้ามเนื้อและประสาทเกิดขึ้น

         ข้อมูลจากมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และคณะกรรมการองค์กรร่วมทศวรรษโรคกระดูกและข้อ แห่งประเทศไทย โดยมี พลโท นพ.ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ เป็นประธาน และ รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คนเราในขณะเดินนั้น เท้ารับน้ำหนัก 1.2 เท่าของน้ำหนักตัว และในขณะวิ่ง เท้ารับน้ำหนักมากเกือบ 3 เท่าของน้ำหนักตัว

        ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยมีอาการข้อเท้าและข้อเข่าขวาอักเสบ เวลาเดินปกติก็เสียว เจ็บเพียงเล็กน้อย แต่พอเดินขึ้นบันใด หรือเริ่มออกวิ่ง จะปวดมากขึ้น ทำให้เกิดข้อจำกัดของ "ข้อ" เท้าและเข่า ต้องหยุดวิ่งหรือขึ้นบันได เพราะปวดเสียว มารู้ตัวเลยว่าแค่น้ำหนักตัวเรากับข้อเท้าเจ็บลงสู่ "เท้า" ก็เกิดขัดข้องเดินไม่ได้

        ในช่วงชีวิตหนึ่ง คนเรา "เดิน" ด้วยเท้า เป็นระยะทางประมาณ "แสนกิโลเมตร" หรือเท่ากับเดินรอบโลกประมาณ 4 รอบ

        "เท้า" จึงมีโครงสร้างพิเศษที่แข็งแรงและปรับตัวได้หลายสภาวะ เท้าแต่ละข้างประกอบด้วยกระดูก 26 ชิ้น กล้ามเนื้อ 23 มัด เส้นเอ็น 107 เส้น ที่ฝ่าเท้ามีเอ็นแผ่ใต้ฝ่าเท้าจะทำให้เกิดอุ้งเท้า ส่วนด้านหลังของกระดูกส้นเท้ามีเอ็นร้อยหวายที่แข็งแรงเกาะอยู่ขณะเดินเท้าสองข้างสลับกันรับน้ำหนัก โดยในช่วงที่สัมผัสพื้นต่อไม่สัมผัสพื้น ประมาณร้อยละ 60 : 40

       ในการ "ออกกำลังกาย" หรือ "เล่นกีฬา" ที่ต้องใช้ "เท้า" เป็นหลัก จึงมีความสำคัญที่เป็น "ฐาน" ล่างของร่างกายที่สร้างความมั่นคงทุกย่างก้าว ในการยืน เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ไม่ให้พลาดพลั้ง ถ้า "เท้า" สมบูรณ์แบบไม่พิกลพิการ สมรรถนะการใช้ "เท้า" ก็จะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ถ้าเป็นการแข่งขันก็จะได้ชัยชนะหรือแพ้ได้

      ความ "พิการ" ของเท้า จึงมีส่วนสำคัญทำให้เกิดปัญหารื้อรัง เช่น ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น ได้ง่ายหรือมากกว่าคนที่มีเท้าปกติ จึงจำเป็นต้องมารู้จักกับ "เท้า" ให้ดี ถูกต้องมากยิ่งขึ้น จะป้องกัน แก้ไข ปรับปรุงอย่างไรจึงจะทำให้การใช้ "เท้า" ทำหน้าที่ของเขา "ปลอดภัย"

     

/data/content/23547/cms/dmnqtvwxz135.jpg

       ปัญหาของ "เท้า" ที่พบบ่อย ได้แก่ เท้าผิดรูปและอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่างๆ การดูแลเท้าให้มีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนการเลือกใช้ "รองเท้า" ที่เหมาะสมจะช่วยให้เราสามารถ "ถนอม" เท้าไว้ใช้ได้นานๆ อย่างมีความสุข

      ใครว่า "เท้า" ไม่สำคัญขอให้นึกถึงรถยนต์ที่มี 4 ล้อ ถ้า "ล้อ" มีปัญหาเช่น น็อตล้อหลวม ยางแบน... รถก็วิ่งไม่ได้ฉันใด คนก็เช่นกัน ถ้าหากเท้ามีปัญหา บาดเจ็บ กระดูกหัก ก็เดินไม่ได้ฉันนั้น โรคหรือปัญหาที่เท้าพบบ่อยๆ มีดังนี้

      เท้าแบน (Flat foot): เป็นภาวะที่มีอุ้งเท้าด้านในเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย อาจพบส้นเท้าเอียงออก ไม่ถือว่าเป็นโรค พ่อแม่มักกังวล ให้ติดตามดูพบว่าโตขึ้นถึง 4 ขวบ อุ้งเท้าจะสูงขึ้น อายุ 7-8 ขวบจะปกติได้ หากโตขึ้นไม่ทุเลา เป็นพันธุกรรม จะปวดอุ้งเท้า ปวดส้นเท้า อาการมากขึ้นเมื่อยืนลงน้ำหนัก 

      การดูแลรักษา: เท้าแช่น้ำอุ่น นวดเท้า เพื่อลดอาการปวด หรืออาจเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม เสริมอุ้งเท้า โครงแข็งแรงและกระชับรัดส้นเท้า

      "เอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (รองช้ำ): อาการสำคัญปวดส้นเท้าจะเป็นในช่วงเช้าโดยระยะก้าวแรก ลงจากเตียง หลังเดินไปสักพักจะดีขึ้น หากรุนแรงจะปวดมากขึ้น พบเอ็นร้อยหวายตึง จะพบพวกใส่รองเท้าส้นสูงนานๆ ตรวจพบเท้าแบนร่วมด้วย

       วิธีดูแลรักษา: เท้าแช่น้ำอุ่น 20-30 นาที แล้วนวดฝ่าเท้าด้วยตนเอง อาจนวดด้วยการกลิ้งเท้าบนกระป๋องน้ำเย็น บริหารยืดเอ็นใต้ฝ่าเท้า เอ็นร้อยหวาย 10-15 ครั้ง ครั้งละ 2-3 รอบ ใส่รองเท้าที่มีพื้นหนานุ่มรับแรงกระแทกได้ดี ทั้งเดินในและนอกบ้าน
       

      "ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า: อาการปวดฝ่าเท้าด้านหน้าส่วนที่กว้างที่สุดเมื่อเดินลงน้ำหนัก ส่วนใหญ่เป็นบริเวณนิ้วชี้ นิ้วกลาง มักตรวจพบการอักเสบ และหนังหนาแข็งร่วมด้วย
       การดูแลรักษา: แช่น้ำอุ่น นวดเท้าเบาๆ ใช้รองเท้าส้นเตี้ยเสริมฝ่าเท้าด้านหน้าตรงส่วนที่ปวด

      "เอ็นร้อยหวายอักเสบ: อาการปวดหลังส้นเท้าปวดมากในตอนเช้าและเมื่อเดินไกลหรือขึ้นลงบันได เกิดจากการกระโดด การเล่นกีฬาหนักๆ ขึ้นลงบันไดมากๆ ตรวจพบเอ็นร้อยหวายบวมแดง

       ดูแลรักษา: หยุดพักประคบเย็น พันผ้ายืด ยกสูง (อาจให้ยาลดการอักเสบ) ใช้รองเท้าส้นสูงเล็กน้อย เพื่อลดแรงกด ปรับยืดเอ็นร้อยหวายและบริหารเพิ่มความแรงกล้ามเนื้อ

      "ปัญหาเท้าของผู้สูงอายุ: ประมาณร้อยละ 80 ของคนที่มีอายุเกิน 50 ปี จะมีปัญหาเท้าอย่างน้อย 1 ครั้ง การพบว่า 3              ใน 4 มีปัญหา "ปวดเท้า" ทั้งที่มีปัจจัย ได้แก่ โรคข้อเสื่อม ทำให้มีอาการปวด เท้าผิดรูป ภาวะปลายประสาทเสื่อม ทำให้ชา เป็นแผลง่าย การไหลเวียนบกพร่อง ทำให้ปวดบวม เป็นแผลเรื้อรัง ขณะเดียวกันผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ ดูแลหรือมีความใส่ใจการดูแลเท้าของตน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่

         ปัญหาปวดเท้าผู้สูงอายุพบบ่อยๆ ได้แก่ เอ็นอักเสบใต้ฝ่าเท้า ปวดอุ้งเท้าด้านหน้า นิ้วโป้งเก หนังหนาแข็ง (Callus) พบในผู้หญิงใส่รองเท้าไม่เหมาะสม พบในหญิง 50% และ 30% ของผู้สูงอายุ โดยจะสวมรองเท้าเล็กกว่าขนาดเท้า

         "หัวแม่เท้าเกเข้าใน: พบได้ร้อยละ 45 ของผู้สูงอายุ พบในหญิง เป็นรุนแรงกว่า มีพันธุกรรม ลักษณะข้อนิ้วโป้งหมุนและการใส่รองเท้าไม่เหมาะสม ควรใช้รองเท้าหน้ากว้าง หรือใช้อุปกรณ์เสริมร่วมด้วย

        "เท้าเบาหวาน: ทำให้เท้าชาไม่มีความรู้สึก ปลายประสาทอักเสบ เจ็บเท้า กรณีหลอดเลือด ส่วนปลายตีบทำให้เกิดอาการปวดขา เดินไกลไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เป็นแล้วหายยาก เป็นแล้วเป็นเลย ต้องถูกตัดทิ้ง ตัดเท้าตัดขาในที่สุด ดังนั้นผู้ป่วยทุกคนต้องรู้จักวิธีดูแลเท้าด้วยตนเอง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน

       อ้อ! อีกโรคเกือบลืมบอกให้ฟังที่ยอดฮิตของเท้า คือ "โรคตาปลา" ไม่ใช่ตาปลาเป็นโรค แต่เท้าเป็นโรคจากการที่หนังแข็งๆ ที่ฝ่าเท้า ถ้าเป็นโรค "ตาปลา" แล้วทำอย่างไรดี ทุกคนรู้จักทั้งนั้น แต่ไม่มีใครอยากเป็น ท่านรู้ไหมว่ามัน คืออะไร

       "ตาปลา" นั้นเป็นก้อนของหนังขี้ไคล ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังเรื้อรัง เช่น ใส่รองเท้าคับๆ และบีบเท้า เป็นเวลานานๆ พบบ่อยที่บริเวณฝ่าเท้าซึ่งรับน้ำหนักของตัวเจ้าของ จึงเกิดอาการปวดเจ็บเวลาที่เขาเดิน 

       ใครที่เคยเป็นโรค "ตาปลา" ที่เท้าจะรู้ซึ้งความเจ็บปวดได้อย่างดี เพราะกว่าจะรักษาหลายสัปดาห์นานมาก แต่ปัญหา คือ รักษาไม่หายขาด กลับเป็นได้อีก หากเราไม่แก้ไขที่ต้นเหตุให้ถูกต้อง


       คนเป็นโรค "ตาปลา" นี้สามารถวินิจฉัย บอกได้เอง จะหายขาดได้ต้องรักษาที่ต้นเหตุ เช่น ให้สวมรองเท้าที่ใส่แล้วสบายไม่ให้มีการเสียดสีมากและนาน จะเป็นการป้องกันการเกิด "ตาปลา" ดีที่สุด หรือความผิดของกระดูก แต่การผ่าตัดแก้ไขนั้นจะยุ่งยาก ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ เช่น ขูดหรือเฉือน ส่วนที่มีมันแข็งออก หรือใช้ยากัดหูดซึ่งประกอบด้วย กรดซาลิซิลิคหรือกรดแลคติกดีที่สุด ควรพบแพทย์ "เวชศาสตร์ฟื้นฟู" ดีที่สุดที่ชำนาญ เรื่อง "เท้า" และ "รองเท้า"

/data/content/23547/cms/adeimpuwx479.jpg

         วิธีดูและสุขภาพเท้า ที่ควรรู้ ขอแนะนำ 6 ข้อ ดังนี้

1.ตรวจเท้าตรวจตนเองทุกวัน ตรวจหารอยแดง รอยถลอก ตุ่มน้ำ เล็บขบ เพื่อขจัดแหล่งเพาะเชื้อ 

2.ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ (ไม่ใช้น้ำร้อน) ซับให้แห้งด้วยผ้าขนหนูโดยเฉพาะง่ามเท้า ถ้าเท้าชาห้ามแช่เท้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

3.ดูแลผิวหนังบริเวณเท้า ควรทาครีมหรือโลชั่นบางเบาให้ทั่ว เพื่อทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น

4.ตัดเล็บอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตามด้วยตะไบ ลดความคม เพื่อกำจัดแหล่งสกปรกและป้องกันการขีดข่วน

5.เลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้า และการใช้งาน ตรวจรองเท้าก่อนใส่งานทุกครั้ง ป้องกันตาปลา
 

6.ควรบริหารเท้าท่าละ 5-10 ครั้ง วันละ 1-2 ครั้ง จะทำให้ "ฐาน" ของคนแข็งแรง

        

         

         ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/23547-ปัญหาเรื่อง%20‘เท้า’%20ดูแลอย่างไร%20.html