Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 9 เม.ย. 2557

เอกสารแนบ

/data/content/23752/cms/bfgjklmoq268.jpg

         กรมอนามัยเตือน 8 โรคเสี่ยงอาการกำเริบระหว่างขูดหินปูน ชี้โรคลูคีเมีย คนเคยล้างไต และใช้ยาละลายลิ่มเลือดสุดอันตราย อาจเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด ย้ำต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนทำฟันทุกครั้ง

         นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการขูดหินปูนหรือหินน้ำลาย เพื่อป้องกันเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ ซึ่งการสำรวจโดยสำนักทันตสาธารณสุข ในปี 2555 พบว่า คนไทยวัยทำงานกว่าร้อยละ 70 มีหินปูนเกาะบนตัวฟัน ต้องได้รับการดูแลโดยการขูดหินปูน ซึ่งการขูดหินปูนทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือขจัดหินปูนแบบที่มีความสั่นสะเทือนทำให้หินปูนหลุดออก และยังมีเครื่องมือชิ้นเล็ก (Hand instruments) ขูดหินปูนโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้ อาจทำให้มีเลือดออกบ้างตามอาการของเหงือกอักเสบหรือโรคปริทันต์ที่ส่วนใหญ่จะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป แต่จะไม่มากจนมีผลใดๆ ต่อผู้ป่วย

         “อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางโรคต้องระวังและแจ้งทันตเพทย์ทุกครั้งก่อนขูดหินปูน คือ

1.โรคเกล็ดเลือดต่ำหรือโรคลูคีเมีย อาจมีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามร่างกายร่วมด้วย

2.โรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต เพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด

3.ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและการใช้ยาละลายลิ่มเลือด โดยทั้งสามโรคนี้เลือดอาจหยุดไหลได้ยาก

4.โรคหัวใจอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยใจสั่น

5.โรคหอบหืดอาจมีอาการหอบเหนื่อย ต้องมียาพ่นประจำ และได้รับยาสเตียรอยด์

6.โรคลมชัก

7.โรคความดันโลหิตสูง

8.โรคเบาหวาน เพราะมีผลกระทบทำให้แผลหายยาก ซึ่งหากแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ จะช่วยให้สามารถเตรียมป้องกันและเตรียมพร้อมกรณีอาการกำเริบได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

         ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หินปูนหรือหินน้ำลายเป็นคราบจุลินทรีย์ที่มีการสะสมของแคลเซียมในน้ำลายในระยะเวลาหนึ่งจนเกิดการแข็งตัวคล้ายหินปูน ซึ่งจะสะสมเชื้อโรคหลายชนิด และเป็นแหล่งผลิตสารพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เหงือกอักเสบและเป็นโรคปริทันต์ วิธีการดูแลป้องกันคือ กำจัดคราบจุลินทรีย์โดยแปรงฟันให้สะอาดทุกวันวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณคอฟันไม่ให้เป็นที่สะสมของคราบจุลินทรีย์จนกลายเป็นหินปูนได้ นอกจากนี้ ทันตแพทย์จะแนะนำให้มาตรวจสุขภาพช่องปากทุกปี หากมีหินปูนก็ควรขูดหินปูนอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดีและลดการสูญเสียฟันในอนาคต

 

 

         ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

         ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/23752-8%20โรคอันตรายเสี่ยงกำเริบขณะทำฟัน.html