Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 10 เม.ย. 2557

เอกสารแนบ

/data/content/23751/cms/acfilmwxz129.jpg

          ระหว่าง "หิว" กับ "อยาก" ต่างกันอย่างไร? หลายคนแยกไม่ออก ถ้าแยกไม่เป็นจะเกิดผลเสียหายร้ายแรงอะไรกับชีวิต หากคุณเคยกินอาหารเช้าตอนแปดโมง เคยกินอาหารกลางวันเวลาเที่ยง และเคยกินอาหารเย็นเวลาหกโมงครึ่ง พอถึงเวลาดังกล่าวคุณจะรู้สึก "หิว" เพราะเป็นไปตามกลไกของร่างกายที่หลั่งน้ำย่อยออกมาทุกครั้ง เมื่อถึงเวลาที่ต้องกิน ธรรมชาตินี้เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า เราจะต้องกินอาหารเพื่อร่างกายจะได้นำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงชีวิต นั่นคือความจำเป็นที่จะต้องกินและเกิดจากธรรมชาติของมวลมนุษย์

          แต่เมื่อนั่งประชุม พักกินอาหารมื้อเที่ยง คุณกินจนอิ่มพุงกาง เพราะอาหารอร่อย เข้าประชุมต่อจนถึงบ่ายสองโมง ได้เวลากินเบรกหรืออาหารว่าง กาแฟ เค้ก ขนมหวาน คุณจะรีบออกไปที่โต๊ะวางเบรกด้วยความ "อยาก" ทั้งๆ ที่อาหารมื้อกลางวันยังย่อยไม่หมด และยังไม่มีอาการหิวใดๆ เพราะความเป็นจริงยังอิ่มอยู่ กระเพาะไม่ได้หลั่งน้ำย่อยออกมาตอนเราต้องการกินเบรก แต่ความอยากที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกทำให้เราอยากจะกิน และเป็นเพียงความรู้สึกที่ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของร่างกาย นั่นหมายถึงอาหารเบรกที่กินด้วยความอยาก คืออาหารส่วนเกินจากความต้องการของร่างกาย ในที่สุดก็จะเก็บสะสมไว้ในรูป "ไขมัน" ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ผิวหนัง แขน ขา และสะโพก

          การแยกแยะระหว่างความอยากกับความหิว ไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะลงมือปฏิบัติ ขั้นตอนต่อมาคือ คุณต้องตั้งสติ ดึงเอาสติให้อยู่กับตนเองตลอดเวลาขณะที่คุณกำลังกินอาหาร ต้องเตือนตนเองตลอดว่า ปกติความหิวควรเกิดกับตัวคุณแค่วันละ 3 ครั้ง คือ หิวข้าวเช้า หิวข้าวกลางวัน และหิวข้าวเย็น แต่ถ้าเป็นอาหารระหว่างมื้อ คุณอาจเกิดได้ทั้งความอยากและความหิว หากคุณกินอาหารมื้อหลักอย่างเพียงพอ คุณจะไม่รู้สึกหิวอาหารว่าง

          แต่ถ้ากินอาหารว่าง ทั้งๆ ที่กินอาหารมื้อหลักอิ่ม นั่นคือการกินด้วยความอยาก ถ้าคุณกินอาหารมื้อหลักไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ร่างกายสะสมพลังงานไม่พอต่อการใช้ระหว่างมื้อ จะทำให้คุณรู้สึกหิว คุณก็ต้องกินเพื่อเพิ่มพลังงาน ซึ่งเป็นการเรียกร้องจากร่างกายจริง แต่การกินอาหารว่าง ต้องระมัดระวังประเภทอาหารที่ให้พลังงานสูงจนเกินไป ต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารว่างที่ให้พลังงานสูง

/data/content/23751/cms/befglstxz678.jpg

          ขั้นตอนต่อมา เมื่อมีสติ จะเกิดปัญญาแยกได้ว่า อะไรคือความหิว อะไรคือความอยาก แล้วจะทำให้ควบคุมตัวเองในการตัดสินใจเลือกกินอาหารเพื่อดับความหิวและความอยาก การใช้ปัญญาในการกินอาหารเพื่อดับความหิวซึ่งเป็นอาหารมื้อหลักนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องคำนึง เพราะความหิวทำให้ขาดสติ จนทำให้แยกแยะไม่ออกว่า อาหารประเภทใดกินแล้วมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อร่างกายหรือไม่ แม้ว่าจะกินเพื่อดับหิวอันเป็นความต้องการของร่างกาย แต่ถ้าขาดสติหรือขาดความรู้จะทำให้เรากินอาหารอะไรก็ได้ที่กินแล้วอิ่ม แล้วเราก็บอกตัวเองว่าดับหิวได้แล้ว

          การดับความหิวหรือกินจนอิ่มไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าอิ่มอาหารแบบได้สารอาหารครบ อาจจะอิ่มอาหารแต่ร่างกายได้สารอาหารไม่ครบก็เป็นไปได้

          การปลูกฝังให้เด็กมีพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง โดยการบอก สอน และฝึก ให้แยกแยะ "ความหิว" ออกจาก "ความอยาก" นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมีภาวะโภชนาการที่ดี จะติดเป็นนิสัยจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่

          ปัญหาภาวะโภชนาการเกินหรืออ้วนในเด็กที่มีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ เกิดมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ไม่ได้ฝึกให้ลูกแยกหิวกับอยากออกจากกัน

          ถ้าแยก "หิว" กับ "อยาก" ได้ ผมมั่นใจว่าคนอ้วนจะสามารถลดน้ำหนักได้ คนปกติจะมีภาวะโภชนาการที่ดี สุขภาพแข็งแรง

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน โดย อาจารย์สง่า ดามาพงษ์

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/23751-หิวหรืออยาก%20ต่างกันอย่างไร.html