Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 22 เม.ย. 2557

เอกสารแนบ

 "วันไหน ๆ พี่ไทยก็เมา" เป็นคำกล่าวที่คุ้นปาก เพราะไม่ว่าเทศกาล วันหยุด งานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และยิ่งช่วงสงกรานต์อย่างในตอนนี้ก็หนีไม่พ้นต้องมีสุรา เบียร์ เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

/data/content/23885/cms/dijkopqsvx89.jpg

          แม้จะรู้ถึงพิษภัยของมัน แต่หลายคนก็ยังไม่ละ เลิก อาจเพราะยังไม่เจอผลเสียที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ล่าสุด กรมการแพทย์ออกโรงเตือนพิษภัยของสุรา เป็นสารเสพติดทำลายสมองและร่างกายระยะยาว เสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย ชี้เพศชายติดสุรามากกว่าหญิงหลายเท่า แนะหาที่พึ่งพาทางใจและกำลังใจจากคนรอบข้าง

          นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดอบรมหลักสูตรการบำบัดฟื้นฟู ผู้ป่วยเสพติดสุราว่า สุราเป็นสารเสพติดที่สามารถหาซื้อได้ง่าย และมีจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ถึงแม้ว่าหลายหน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์ถึงโทษพิษภัยของสุราและรณรงค์ไม่ให้ประชาชนดื่มสุรา เนื่องจากสุราเป็นสารเสพติดที่ทำลายสมองและร่างกายของผู้ที่ดื่มในระยะยาว ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย เช่น โรคตับแข็ง ตับอักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคจิตจากการติดสุรา ชักจากการเสพติดสุรา โรคเพ้อคลั่ง โรคเลือดออกในกระเพาะอาหาร

          จากสถิติของสถาบันธัญญารักษ์ ปี 2556 พบว่า มีผู้ป่วยเสพติดสุราที่เข้าบำบัดรักษา จำนวน 1,388 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 89.05 และเป็นเพศหญิงร้อยละ 10.95

          กรมการแพทย์โดยสถาบันธัญญารักษ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด จึงมีการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและทักษะการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดแก่พยาบาลวิชาชีพ บุคลากรทางสาธารณสุข โดยมุ่งให้ผู้เสพยาและสารเสพติดได้รับการบำบัดรักษา ฟื้นฟูอย่างมีคุณภาพ และมาตรฐาน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข คือ การลดจำนวนผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดและช่วยให้ผู้ติดยาเหล่านั้น ไม่หวนกลับไปเสพซ้ำ และสามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างถาวร รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพ และผู้ติดรายใหม่เพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสุราไว้ว่า ความชุกของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรอายุ 15-19 ปีต้องไม่เกินร้อยละ 13 เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

          นายแพทย์วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยที่ติดสุรา จำเป็นต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรค อาการแสดงในผู้ป่วยที่ขาดสุรา และผู้ป่วยที่ได้รับสุราเกินขนาด รวมทั้งอาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยเสพติดสุรา คือ อาการสมองเสื่อม ความคิด ความจำ การตัดสินใจช้ากว่าปกติ ซึ่งอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพค่อนข้างนาน คือต้องการการฟื้นสมรรถนะทางสมองในผู้ป่วยเสพติดสุรา การบำบัดรักษาผู้ป่วยเสพติดสุรา เภสัชวิทยาของสุรา และการออกฤทธิ์ของสุราต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงการสร้างแรงจูงใจ การฟื้นกระบวนการคิด และการดำเนินกิจกรรมกลุ่มบำบัดสำหรับผู้ป่วยเสพติดสุรา ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ทางทฤษฎี ร่วมกับทักษะและประสบการณ์จากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งต้องมีการนำครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถดูแลตนเองได้อย่างต่อเนื่อง

          หลายคนบอกว่าการเลิกสุราทำได้ยาก เพราะปฏิเสธต่อคำชักชวนของเพื่อนฝูงไม่ได้ นายแพทย์วิโรจน์ แนะว่า วิธีการหลีกเลี่ยงการเสพติดสุรา อาจต้องใช้วิธีการค่อยเป็นค่อยไป และต้องตั้งใจจริง อย่างเช่น ตั้งเป้าว่าจะเลิกสุราเพื่อใคร เพราะเหตุใด ปรับเปลี่ยนนิสัยการดื่ม เช่น เปลี่ยนขนาดของแก้วให้เล็กลง ตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณการดื่ม หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น

          กลุ่มเพื่อน หรือเข้าสังคมที่ดื่มสุรา สถานการณ์ สถานที่ ส่วนปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ดื่มสุราได้ง่ายขึ้น อาทิ ฝึกปฏิเสธให้เด็ดขาด เมื่อมีเวลาว่างให้ทำกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์แทน เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง รวมทั้งหาที่พึ่งพาทางใจและกำลังใจจากคนรอบข้าง

          แม้จะเลิกยาก แต่เลิกได้ แถมลดอัตราเสี่ยงต่อโรคภัย ต่าง ๆ หากต้องการลด ละ เลิกจากการดื่มสุรา ปรึกษาสายด่วนยาเสพติด สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ โทร. 1165.

 

 

           ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/23885-ดื่มสุราประจำ%20ระวังสมองเสื่อม%20.html