Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 24 เม.ย. 2557

เอกสารแนบ

       ถ้าคุณแม่ช่วงให้นมบุตรพบอาการเหล่านี้ อ่อนเพลีย เหน็บชา เป็นตะคริว เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว หรือเป็นแผลหายช้า แสดงว่ากำลังขาดสารอาหารที่จำเป็น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ประสิทธิภาพในการเลี้ยงดูลูกน้อย รวมถึงคุณภาพชีวิตในระยาว ต้องรีบปรับการบริโภคอาหารเพื่อภาระหน้าที่ความเป็นแม่ที่สำคัญโดยด่วน

/data/content/23936/cms/e_cjpqrtxz2679.jpg


          "รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล" นักวิชาการด้านโภชนาการระดับประเทศ กล่าวว่า "แม่รุ่นใหม่ทราบดีว่านมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยิ่งสูงขึ้นและนานขึ้น แต่แม่ชาวไทยกลับไม่ทราบว่ากำลังเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารบางชนิดในระยะให้นมบุตรเพียงประมาณ 30% ของความต้องการของร่างกายเท่านั้น เพราะระยะ ให้นมบุตรร่างกายต้องการสารอาหารบางอย่างในปริมาณที่มากกว่าช่วงก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์เสียอีก เนื่องจากต้องใช้สารอาหารทั้งสำหรับตัวเอง และผลิตน้ำนมให้ลูก

           "ผลสำรวจการบริโภคอาหารของหญิงให้นมบุตรโดยกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ช่วงเวลาดังกล่าวแม่มีความเสี่ยงขาดสารอาหาร เช่น แคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซีถึงเกือบร้อยละ 70 ของปริมาณที่ควรได้รับ อีกทั้งควรได้รับสารอาหาร ได้แก่ เหล็ก วิตามินบี 1 และ วิตามินบี 2 เพิ่มอีกเท่าตัวด้วย ไม่เช่นนั้นจะบั่นทอนสุขภาพแม่ และกระทบต่อศักยภาพในการเลี้ยงดูลูก

           การขาดสารอาหารนั้นบอกไม่ได้จากรูปร่างแม่จำนวนมากขาดสารอาหารทั้งๆ ที่มีรูปร่างสมส่วนและรับประทานอิ่มทุกมื้อ เพราะอาจได้พลังงานเพียงพอแต่ได้รับสารอาหารบางอย่างน้อยเกินไป สัญญาณเตือนที่จะรู้สึกได้ คือรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เป็นตะคริว เจ็บลิ้น ผิวหนังแห้งเป็นสะเก็ด ปรับการมองเห็นในที่มืดได้ช้า เป็นเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงหัวใจเต้นเร็ว ปากนกกระจอกเลือดออกตามไรฟัน แผลหายช้า เบื่ออาหาร และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่มองไม่เห็น เช่น โลหิตจาง และกระดูกพรุนในอนาคต"

          รศ.ดร.ประไพศรี กล่าวแม่ให้นมบุตรควรได้รับวิตามินเอมากกว่าปกติ60% ด้วยการรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง ตับสัปดาห์ละ 1-2 ช้อนกินข้าวและมะละกอสุก200 กรัมต่อวันและผักใบเขียวและแคลเซียม ควรได้รับอย่างน้อย 800 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปกติจะได้รับอยู่เพียงประมาณ 30% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวันเท่านั้น จึงควรเสริมด้วยการดื่มนมจืดทั่วๆ ไปวันละ 2 แก้ว หรืออาจพิจารณานมสูตรเฉพาะหรือแคลเซียมเม็ด จึงจะได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของทั้งแม่และลูก

          สำหรับแม่ในระยะตั้งครรภ์นั้น ก็ยังคงพบปัญหาแม่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอเช่นกัน รศ.ดร.ประไพศรี กล่าวว่า "แม้ว่าแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับโภชนาการดีกว่าระยะให้นมบุตร แต่จากผลการสำรวจการบริโภคอาหารของหญิงตั้งครรภ์โดยกระทรวงสาธารณสุขก็ยังพบว่ามีความเสี่ยงได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินเอ ซึ่งควรได้รับเพิ่มอีกอย่างน้อยประมาณเท่าตัว"

          คุณแม่วันนี้ควรใส่ใจกับสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น เพราะบทบาทของแม่นั้นมีความสำคัญยิ่งใหญ่ต้องมีโภชนาการที่ดีเป็นรากฐานเพื่อสนับสนุนให้แม่ได้ดูแลอีก 1 ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ

 

 

        ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง