Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 11 มิ.ย. 2557

เอกสารแนบ

/data/content/24625/cms/e_dgnquvwxz569.jpg

          ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโรคภูมิแพ้ในเด็กเริ่มมีมากขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยจากผลการศึกษาวิจัยมีการค้นพบความเชื่อมโยงว่า เด็กที่ผ่าคลอดจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังอย่างภูมิแพ้จากการขาดภูมิต้านทาน ชี้มีผลต่อพัฒนาการจนถึงผู้ใหญ่สามารถถ่ายทอดส่งต่อทางพันธุกรรมได้ แนะนำทางแก้ไขควรให้ดื่มนมแม่หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำวิธีที่ช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นจริงๆ

          ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ นรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เผยถึงการศึกษาติดตามชีวิตเด็กที่ใช้วิธีคลอดโดยการผ่าตัดคลอด พบว่าในช่วง 2 ปีแรกนั้น มักจะมีปัญหาอาการป่วยบ่อย เช่น ผื่นผิวหนัง ภูมิแพ้ หรืออาการแพ้อาการมีน้ำมูกไหล หรือหากโตขึ้นมาอีกหน่อยก็พบว่าจะเป็นโรคหอบหืดได้ง่าย

          “สาเหตุมาจากการผ่าตัดทำคลอดส่วนใหญ่จะมีวิธีการผ่าตัดแบบสะอาด เด็กแทบจะไม่ได้รับเชื้ออะไรเข้าไปเลย แม้กระทั่งเชื้อจุลชีพที่เป็นประโยชน์จากภายในช่องคลอดของมารดา ซึ่งในกระบวนการคลอดตามธรรมชาตินั้นเด็กจะต้องใช้เวลาอยู่ในนั้นนานถึง 10 - 12 ชั่วโมง”

          เมื่อไม่ได้รับเชื้อจุลชีพที่เป็นประโยชน์ซึ่งจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นเสมือนทหารยามคอยป้องกันอันตรายจากภายนอก เด็กเองก็จะมีความเสี่ยงต่อการมีภูมิต้านทานที่ล่าช้ากว่าเด็กที่คลอดตามธรรมชาติ ทว่าการผ่าตัดคลอดก็ยังเป็นวิธีที่ผู้คนนิยม ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ต่างๆ ที่ก้าวไปไกลขึ้นโดยในโรงพยาบาลเอกชนพบว่า ผู้คนเลือกผ่าตัดทำคลอดสูงถึง 60 - 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

          “กระแสในเรื่องของการผ่าตัดคลอดมันมาพร้อมกับความเจริญ เทคโนโลยี และพัฒนาการในด้านของสูติศาสตร์ด้วย ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร หากกระทำอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ และต้องยอมรับว่าในโรงพยาบาลเอกชนกระแสพวกนี้ยิ่งมาแรงเพราะมันมีความเชื่อในเรื่องของวัฒนธรรมสังคมที่อยากให้ลูกเกิดวันนี้เวลานี้ ขอให้คลอดตามวันนั้นถือว่าเป็นดวงมังกรอะไรแบบนี้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขข้อจำกัดอย่างมารดาที่มีอายุก็อาจจะต้องใช้วิธีผ่าตัดคลอด รวมไปถึงการมีปัจจัยแทรกซ้อนต่างๆที่ทำให้ต้องตัดสินใจใช้วิธีนี้แทนการคลอดแบบธรรมชาติ”

          ทั้งนี้ โรคเรื้อรังดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้น นายแพทย์เตือนว่า จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กในระยะยาว อาจทำให้เด็กเหล่านั้นต้องเข้า - ออกโรงพยาบาลบ่อยทำให้เสียโอกาสในการเรียน ทั้งยังอาจทำให้ร่ายกายอ่อนแอ และโรคเหล่านี้ก็สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อีกด้วย

          “อย่างที่บอกว่าเรื่องของภูมิแพ้เป็นเรื่องของพันธุกรรมด้วย ถ้าเด็กในวันนี้ไม่รู้จักที่จะป้องกันตัวเองให้ห่างจากเรื่องของภูมิแพ้ในอนาคตก็จะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็จะถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกต่อไป มันก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นว่าผู้คนก็ต้องเสียเงินเสียทองมารักษาโรคเหล่านี้”

          อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวมาไกลในด้านของภูมิต้านทานในเด็กจึงมีการคิดค้นวิธีการที่ช่วยเพิ่มปริมาณของจุลชีพที่มีประโยชน์เหล่านี้ ผศ.นพ.มานพชัยชี้ว่า วิธีดั้งเดิมที่สามารถช่วยให้เด็กแรกเกิดปลอดภัยจากโรคเรื้อรังเหล่านี้คือการให้ดื่มนมแม่นั่นเอง

          “หนทางที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานได้นั้นมีอยู่ 2 ทาง 1. คือพยายามรณรงค์ให้มีการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดามากขึ้น 2. หากมารดาไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองได้เพียงพอก็อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงการใช้นมผสมสูตรที่เป็นซิมไบโอติก คือมีส่วนทั้งโปรไบโอติกที่เป็นจุลชีพที่เป็นพลเมืองดีในการป้องกันปัญหาการติดเชื้อหรือโรคภูมิแพ้ต่างๆ และพรีไบโลติกที่เป็นสารอาหารตัวที่ทำให้จุลชีพที่เป็นพลเมืองดีเหล่านั้นสามารถจะเพิ่มขยายจำนวนได้”

          โดยการให้ดื่มนมแม่ที่ปัจจุบันนี้คุณแม่ยุคใหม่อาจมีเวลาน้อยลง หลายคนเลือกที่จะบีบนมเก็บไว้ในตู้เย็นให้ลูกดื่ม เขาเผยว่า สารอาหารบางอย่างอาจยังคงอยู่แต่จุลชีพที่ก่อประโยชน์นั้นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคงจะไม่สามารถอยู่ได้นานนัก

          ทั้งนี้ เขายังแนะนำต่อไปถึงคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมแม่ด้วยตัวเองได้ และจำเป็นต้องให้นมผสมแก่เด็กว่า พัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กในแต่ละช่วงวัยนั้นก็มีความแตกต่างกัน การให้เด็กได้รับสารอาหารที่เหมาะกับช่วงวัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น นมผสมที่เลือกให้เด็กรับประทานจึงต้องเลือกให้สูตรเหมาะกับช่วงวัยของเด็กด้วย

           “ครอบครัวคนไทยมักจะชอบให้อาหารเสริมอย่างพวกกล้วยบด ข้าวบดกับเด็กเร็วเกินไปซึ่งสารอาหารที่ได้รับ เด็กได้รับจากนมแม่เพียงพออยู่แล้ว การให้อาหารเสริมจะทำให้เด็กสูญเสียโอกาสให้การได้รับนมแม่และยังมีโอกาสทำให้เด็กท้องอืดอีกด้วย” ย้อนกลับไปที่เรื่องระยะเวลาในการดื่มนมมารดานั้น เขาเผยว่า องค์กรอนามัยโลกแนะนำว่า 6 เดือนก็เพียงพอแล้ว

          “บางคนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานเกินไปต้องยอมรับว่า ปริมาณและคุณภาพของน้ำนมแม่นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณแม่จึงควรใส่ใจในการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี เพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพสำหรับลูกน้อยด้วย”

          อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.มานพชัย ย้ำว่า การดูแลเด็กให้มีคุณภาพดี มีพัฒนาการที่สมบูรณ์นั้นจำเป็นจะต้องเริ่มตั้งแต่ในครรภ์ ในปัจจุบันนี้ก็มีอาหารเสริมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ทั้งโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุจากการผ่าตัดคลอด และภูมิแพ้สิ่งต่างๆที่เกิดจากสภาวะของสังคมเมือง สิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ก็คือการที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น และหาทางแก้ไขในท้ายที่สุด

 

          ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24625-เด็กผ่าคลอดอาจเสี่ยงโรคภูมิแพ้เรื้อรัง.html