Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 4 ก.ค. 2557

เอกสารแนบ

/data/content/24923/cms/e_befkwyz34789.jpg

          ช่วงฤดูกาลกระแสฟุตบอลโลกในขณะนี้ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสังคมไทย เหยื่อพนันที่ก้าวเข้าสู่วงจรอุบาทว์ที่เล่นอย่างหนัก สุดท้ายเสียเงินจนหมดตัว เป็นหนี้เป็นสิน กระทบถึงครอบครัวกลายเป็นสังคม ที่ต้องเร่งช่วยกันหาทางป้องกันโดยเร็ว

ผลสำรวจเผยสัปดาห์แรกแห่แทงพนัน

          รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ลงพื้นที่สำรวจ “พฤติกรรมรับชมและการเล่นพนันทายผลฟุตบอลโลก 2014” ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6) และอาชีวศึกษา (ปวช.1-ปวช.3) รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 19-29 มิ.ย.2557 ใน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี รวม 3,012 ตัวอย่าง พบว่าเกือบ 60% รับชมการถ่ายทอดสด ครึ่งหนึ่งปรับตัวโดยการนอนหัวค่ำ ตื่นดึก อีกครึ่งใช้วิธีอดนอน ไปโรงเรียนสาย โดดเรียน ที่น่าสนใจคือ 9.1% ดื่มสุราเชียร์บอล และ 5.4% ชวนเพื่อนเล่นพนันบอล

/data/content/24923/cms/e_chijmnx13689.jpg

          “เพียงสัปดาห์แรกของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 มีการเล่นพนันบอลถึง 9.8% โดยนักเรียนสายอาชีพมีสัดส่วนผู้เล่นพนันสูงกว่านักเรียนสายสามัญ และสัดส่วนของนักเรียนที่เล่นพนันเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เล่น 3% ระบุว่าตั้งใจจะเล่นนัดต่อๆไป ขณะที่ 13% ยังไม่แน่ใจว่าจะเล่นหรือไม่ ที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่เล่นพนันบอล 73.6% ระบุว่า เคยเล่นพนันทายผลบอลรายการอื่นมาก่อน และเกินกว่า 1 ใน 3 คือ 36.4% ระบุว่าจะเพิ่มวงเงินที่ใช้เล่นพนันมากขึ้น” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว

       

  เด็กวัยรุ่นเสียการเรียน-ติดหนี้-เครียด-คิดสั้น

          ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า กลุ่มที่เล่นพนันบอล สัปดาห์แรกเฉลี่ยเล่น 5 คู่ และ 21.6% เล่นเกินกว่า 8 คู่ ด้านวงเงินพนันมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่เกิน 50 บาท จนถึงสูงสุด 5,000 บาทต่อคู่ โดยค่าเฉลี่ยของการเล่นต่อคู่อยู่ที่ประมาณ 345 บาท ที่น่าสนใจคือ เพียงสัปดาห์แรกของการแข่งขัน มีผู้เล่นพนันที่มีหนี้สินจากการเล่นพนันทายผลฟุตบอลโลกครั้งนี้ถึง 10.5% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,100 บาท

          นอกจากนี้ เพียงสัปดาห์แรก มีผู้เล่นพนัน 42.6% ระบุว่าได้รับผลกระทบจากการเล่นพนันบอลอย่างน้อยหนึ่งประการ เริ่มตั้งแต่ 23.1% เสียการเรียน 17.3% ทะเลาะวิวาทกับคู่พนันและถูกโกง 15.3% ทะเลาะกับคนในครอบครัว 12.2% เลิกกับแฟน ที่น่ากังวลใจคือ 10.8% หาเงินมาเล่นหรือใช้หนี้ด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ 10.2% ถูกขู่กรรโชก/ทำร้ายร่างกาย และ 9.8% ระบุว่ามีความเครียดมากจนต้องเข้ารับการบำบัดหรือคิดสั้น

พบกว่าร้อยละ 48 เมินถูกตำรวจจับ

          เมื่อสอบถามว่า ประกาศของ คสช. และการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มงวดของตำรวจ มีผลต่อการเล่นพนันทายผลฟุตบอลหรือไม่ 50.9% ระบุว่ามีผล โดยกลุ่มดังกล่าว 37.4% เล่นน้อยกว่าที่ตั้งใจ 32.4% เล่นตามปกติ แต่ระมัดระวังมากขึ้น และ 30.2% ปรับเปลี่ยนช่องทางเล่น ขณะที่เกือบครึ่ง คือ 48.6% ไม่รู้สึกกังวลว่าจะถูกจับได้และถูกลงโทษ ทั้งนี้ นักเรียนที่มีอายุน้อยมีความกังวัลว่าจะถูกจับได้น้อยกว่านักเรียนที่มีอายุมากกว่า

ภัยเทคโนโลยีช่วยเด็กเข้าถึงอบายมุขง่าย

/data/content/24923/cms/e_bcefklmvy259.jpg

          ด้าน นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ชายบ้านกาญจนาภิเษก บอกว่า เด็กเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาฯ หลายคนมีคดีอาชญากรรม ลักวิ่งชิงปล้น ส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากหนี้พนันบอล ทุกวันนี้เด็กเข้าถึงแหล่งอบายมุขได้ง่าย กลไกรัฐไม่เคยปกป้องเด็กจากพื้นที่เสี่ยง ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้า เด็กยิ่งเข้าถึงได้เร็ว ขณะเดียวกันเมื่อเด็กก้าวพลาดหรือทำผิด ผู้ใหญ่มักใช้บทลงโทษด้วยการตีตราซ้ำเติม จึงไม่เหนือความคาดหมายที่ผลสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันบอลโลกของเด็กเยาวชนมีปรากฏการณ์ออกมาแบบนี้ หรือบางทีในมุมมืดที่เรามองไม่เห็นอาจจะแรงกว่านี้

หยุดซ้ำเติมเด็ก-เร่งให้ความรู้สร้างเกราะป้องกัน

          “เด็กเยาวชนกลุ่มนี้กลายเป็นเหยื่อความหละหลวม ความเพิกเฉยของกลไกรัฐ การออกมารณรงค์แก้ปัญหาเพียงครั้งคราวที่ไม่ตอบโจทย์จึงเป็นแค่เพียงพิธีกรรม สิ่งที่ควรทำคือ สร้างความเข้มแข็ง บ่มเพาะเด็กให้ได้คิด ตัดสินใจ ใช้ดุลพินิจ เสริมสร้าง ฝึกฝน ศึกษาด้านเสีย โทษภัยปัญหาพนันตามช่วงวัย เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัว จากนั้นเด็กจะรู้จักเครื่องมือหยุดตัวเอง ไม่ควรใช้วิธีข่มขู่คุกคามให้เด็กหวาดกลัว เพราะวิธีแบบนี้ไม่สามารถสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มีจิตใจเข้มแข็งได้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องลงทุนกับเด็กอย่างจริงจัง ไม่ใช่เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็โทษด่าว่าประณามเด็ก” นางทิชา กล่าวทิ้งท้าย

          ปัญหาการพนันที่เหมาะสมควรเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในเรื่องข้อเท็จจริงของการพนันประเภทต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสม และแสวงหาวิธีในการป้องกันปัญหาการพนันที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย

 

 

          เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24923-“พนันบอล”วิกฤตค่านิยมชมเชียร์.html