Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 17 พ.ค. 2556

เอกสารแนบ

 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยรายงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยทรอมโซ  ประเทศนอร์เวย์ที่พบว่าหญิงที่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าชายที่สูบบุหรี่ถึงสองเท่า

งานวิจัยดังกล่าวศึกษาเวชระเบียนของผู้ป่วยหกแสนราย  พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 4,000 ราย โดยความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหญิงที่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เปรียบเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ในเพศชายที่สูบบุหรี่ และความเสี่ยงที่เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นชัดเจนในหญิงที่เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 16 ปี หรือก่อนนั้นและสูบอย่างต่อเนื่อง

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า หญิงที่สูบบุหรี่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าผู้ชายที่สูบบุหรี่ โดยงานวิจัยพบว่า  หญิงที่สูบบุหรี่เสี่ยงจะเกิดโรคหัวใจวายจากเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าชายที่สูบบุหรี่ และวัยรุ่นหญิงที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่มือสองมีระดับไขมันชนิดดีลดต่ำลงกว่าปกติ โดยไม่พบความผิดปกติลักษณะเดียวกันในวัยรุ่นชายที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง

ศ.นพ.ประกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า อนึ่งการสำรวจการสูบบุหรี่ในผู้ใหญ่ระดับโลก  พ.ศ.2552  พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยอายุมากกว่า 15 ปี เท่ากับร้อยละ 3.1 คิดเป็นจำนวนหญิงไทยที่สูบบุหรี่ทั้งสิ้น 8 แสนสี่หมื่นคน  มีหญิงไทย 8 ล้าน 8 แสนคนได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านและหนึ่งล้านคนในที่ทำงาน โดยแม้อัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยจะยังอยู่ในระดับต่ำ  แต่ผลการสำรวจก็พบว่าแนวโน้มการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงไทยมีอัตราเพิ่มขึ้น จากผลของการที่บริษัทบุหรี่มีการผลิตบุหรี่ตราใหม่ๆ สำหรับผู้หญิงตลอดเวลา  ทุกฝ่ายในสังคมไทยจึงต้องช่วยกันรักษาค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ของหญิงไทยไว้

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/special_report/34452