Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 17 พ.ค. 2556

เอกสารแนบ

 

เป็นที่ทราบอย่างแพร่หลายว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถึงกระนั้น ร้อยละ 18.5 ของสตรีชาวอเมริกันยังคงสูบบุหรี่อย่างสม่ำเสมอ สตรีที่สูบบุหรี่นั้นส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25 ถึง 44 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์ ที่น่าตระหนกไปกว่านั้นคือ ร้อยละ 12 ของสตรีชาวอเมริกันที่ตั้งครรภ์ยังคงสูบบุหรี่

ถึงแม้ว่าสัดส่วนโดยรวมของประชากรสตรีไทยที่สูบบุหรี่นั้นต่ำกว่าสตรีในประเทศสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอื่น แต่สัดส่วนของสตรีไทยในวัยรุ่นที่เริ่มสูบบุหรี่กลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.6 ในปี พ.ศ.2549

ภยันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพโดยรวมคนเราสามารถได้รับควันบุหรี่ผ่านทาง 3 ช่องทาง ได้แก่

1. เป็นผู้สูบบุหรี่เอง (first-hand smoker)

2. ได้รับควันบุหรี่จากคนรอบข้าง (passive smoker)

3. ทารกในครรภ์ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่ผ่านมาจากมารดา (intrauterine exposure)

ภยันตรายต่อสุขภาพโดยรวมของผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรีได้แก่ การเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ (เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง) โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งตับอ่อน สตรีที่สูบบุหรี่จัดมีโอกาสเกิดโรคกระดูกผุบางได้ง่าย อันเนื่องมาจากพิษของสารในควันบุหรี่ที่มีต่อรังไข่ ทำให้รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด

สตรีกลุ่มดังกล่าวจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็ว และทำให้กระดูกเสื่อมเร็วด้วย กระดูกที่ผุบางก่อนกำหนดจะหักง่ายเมื่อประสบกับอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย กระดูกสะโพกและกระดูกข้อมือเป็นตำแหน่งที่หักได้บ่อย

หากมีการหกล้ม กระดูกสันหลังอาจโก่งงอและยุบตัวเมื่อเข้าวัยชรา ซึ่งจะตามมาด้วยการกดทับของเส้นประสาทไขสันหลัง และมีปัญหาด้านการเดินในที่สุด

สตรีจำนวนมากที่สูบบุหรี่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ พบว่าสารแคดเมียมและนิโคตินในควันบุหรี่สามารถยับยั้งการตกไข่และการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปได้ยากขึ้น การทำงานของท่อนำไข่จะแย่ลงจากผลของสารพิษในควันบุหรี่ ทำให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วเดินทางไปฝังตัวยังมดลูกได้ยากขึ้น และอาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

การสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งเต้านม ซึ่งล้วนแต่เป็นผลเสียต่อภาวะเจริญพันธุ์ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในสตรีที่สูบบุหรี่ที่มีอายุมากกว่าสี่สิบปีอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขาได้

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/situations/34453