Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 28 ต.ค. 2556

เอกสารแนบ

4 เทคนิค ป้องกันภาวะสมองเสื่อม

 

สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ มีผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าในปี 2593 ไทยจะมีผู้สูงอายุล้นเมือง คือมีมากถึงร้อยละ 27 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งปัญหาสำคัญคือ นอกจากขาดแคลนแรงงานที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในการดูแลร่างกายวัยปลดเกษียณคงบานปลายจนเกินกว่าภาครัฐจะรับได้ไหว

เพราะต้องยอมรับว่า ผู้สูงอายุที่ร่างกายเสื่อมโทรมและสึกหรอไปตามวัย คงไม่สามารถคงสภาพความแข็งแรงไว้ได้ดังเดิม โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพจิต ที่เป็นปัญหามากก็คือ 20% ของผู้สูงอายุ มักต้อวทนทุกข์ทรมานอยู่กับปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาทางระบบประสาท โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อม!!

ซึ่งภาวะดังกล่าว นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เป็นความผิดปกติในการทำงานของสมอง ที่ได้รับผลกระทบจากโรค หรือความผิดปกติบางอย่าง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการความจำเสื่อม มีความถดถอยของพฤติกรรมและบุคลิกภาพ เกิดอาการสับสน และอาการผิดปกติด้านการพูดและความเข้าใจ อาการเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทบกระเทือนกับการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคมของผู้ป่วย

"คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมประมาณ 35.6 ล้านคน ทุก 20 ปี จะมีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และภายในปี ค.ศ. 2050 จะมียอดผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมรวมกว่า 115.4 ล้านคน โดยโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดร้อยละ 60-80 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด รองลงมาคือ ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมไว้ประมาณ 229,000 คน ในปี 2005 และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยโรคอัลไซเมอร์ มีร้อยละ 40-70 ของภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด"

นพ.เจษฎา บอกว่า บางกลุ่มอาการรักษาไม่ได้ แต่ก็มีบางกลุ่มอาการที่สามารถรักษาได้ ถ้าค้นพบสาเหตุได้ชัดเจน การวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วและแม่นยำจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่คงไม่เท่าการป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 เทคนิคด้วยกันคือ

1.บริหารสมอง โดยฝึกทักษะการใช้มือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้สามารถรับรู้และเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ให้ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาทและสมองส่วนต่างๆ ทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เช่น เต้นรำ เล่นหมากรุก หมากล้อม โยคะ รำมวยจีน ต่อจิ๊กซอว์ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานบ้านหรืองานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น

2.บริโภคอาหาร โดยรับประทานอาหารครบหมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัดหรือการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น เลือกรับประทานอาหารที่บำรุงสมอง เช่น ธัญพืชหรือถั่ว ผักใบเขียวทุกชนิด ถั่วเหลือง อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง ผลไม้รสเปรี้ยว ปลาทะเลน้ำลึก ปลาทูน่า เป็นต้น

3.รักษาร่างกาย โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิมก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ หากมีอาการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อลดโอกาสเกิดอาการสับสนเฉียบพลัน ที่สำคัญ ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น

และ 4.ผ่อนคลายความเครียด โดยการหารูปแบบที่เหมาะสมกับตนเองให้มากที่สุดและสามารถนำมาใช้ได้กับชีวิตจริง เช่น การฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ การฝึกสมาธิ การพูดคุย หรือพบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น

 

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

 

 

 

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/37006