Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ธนิกุล ศรีอุทิศ 9 ธ.ค. 2556

เอกสารแนบ

ในช่วงปลายปีอากาศในบ้านเราจะเริ่มเย็นขึ้นโดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศและบนที่สูงอากาศจะเย็นกว่าบริเวณอื่น อากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันเกิดการไม่สบายได้ง่าย

โรคที่เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงที่อากาศเย็นคือไข้หวัด เนื่องมาเชื้อไวรัสต่างๆมีสภาพคงตัวและแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว อีกเหตุผลคือร่างกายของคนเราโดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุร่างกายยังมีภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีเพียงพอ เมื่อสัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็นร่างกายก็ไม่สามารถปรับสภาพได้ทันจึงทำให้ร่างกายอ่อนแอรับเชื้อต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านของเราเป็นตัวช่วยตัวหนึ่งที่จะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นได้ในหน้าหนาว

กระเทียม เป็นสมุนไพรที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำอยู่แล้วในการปรุงประกอบอาหาร ตามตำราของแพทย์โบราณทางตะวันออกระบุถึงคุณสมบัติของกระเทียมเพื่อเพิ่มพลังในร่างกาย เพราะความร้อนของกระเทียมจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นโดยเฉพาะหากเป็นกระเทียมสดจะยิ่งมีสารอัลลิซินที่มากกว่า สารตัวนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายมีการศึกษาที่พบว่าสารในกระเทียมช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดคออักเสบ และลดการเกิดไข้หวัดในฤดูหนาวได้ ข้อควรระวังในการรับประทานกระเทียมคือไม่ควรรับประทานครั้งละมากเกินไป (มากกว่า 10 กลีบ) ในช่วงที่ท้องว่างเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร สำหรับผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือดควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะรับประทานกระเทียมในปริมาณสูงเป็นประจำเนื่องจากอาจส่งผลต่อฤทธิ์ของยา

 ขิง เป็นหนึ่งในสมุนไพรพื้นบ้านที่มีใช้กันมานานทั้งตะวันออกและตะวันตก ขิงเป็นพืชที่มีรสเผ็ดร้อน เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นลดการเกิดไข้หวัด ตามตำราแพทย์พื้นบ้านมีการใช้ขิงทั้งสดและแห้ง เพื่อแก้หวัด แก้ปวดหัว และแก้หนาว วิธีการรับประทานก็เพียงนำเอาขิงแก่มาต้มแล้วดื่มน้ำขิงก็จะทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น หรืออาจเติมน้ำผึ้งในปริมาณเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ

 หัวหอม โดยทางตำราแพทย์ทั้งแผนตะวันออกและตะวันตกนิยมใช้หัวหอมในการรักษาโรค โดยเฉพาะคุณสมบัติที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น เพิ่มภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกาย นิยมนำมาปรุงประกอบอาหารมากกว่าการรับประทานแบบสด นำมาทำเป็นซุปจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงจะสังเกตได้ว่าประเทศที่มีลักษณะอากาศหนาวจะมีอาหารที่ปรุงประกอบด้วยหัวหอม เช่น ซุปหัวหอมของทางยุโรป ซุปหัวหอมและไก่ของจีน ซุปหัวหอมและถั่วของทางตะวันออกกลางเป็นต้น แต่ควรระวังเพราะหากรับประทานมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดร้อนในและไม่ควรรับประทานหัวหอมสดปริมาณมาก (มากกว่า 1 หัวสำหรับหัวหอมใหญ่และ 3 หัวสำหรับหัวหอมแดง) ในเวลาท้องว่างเพราะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบได้

อบเชย ซึ่งนิยมนำมาปรุงประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน กลิ่นของอบเชยจะเป็นกลิ่นที่ให้ความอบอุ่น จึงเป็นที่นิยมรับประทานในเวลาที่อากาศเย็น

กานพลู นิยมนำมาเป็นเครื่องเทศ เครื่องแกง คุณสมบัติหนึ่งของกานพลูคือลดการอักเสบ และฆ่าเชื้อต่างๆ ดังนั้นการบริโภคกานพลูในหน้าหนาวจะช่วยลดอาการไม่สบายลงได้

พริกสด มีสารสำคัญที่ชื่อว่าแคปไซซิน ซึ่งเป็นสารที่ให้ความเผ็ดร้อนให้ความอบอุ่น เนื่องจากหลังจากที่รับประทานพริกเข้าไปแล้วจะไปเพิ่มระบบเมตาโบลิซึมของร่างกายทำให้ร่างกายเพิ่มการทำงานการเผาผลาญความร้อนเพิ่มมากขึ้น และมีคุณสมบัติทางยาคือช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ลดเสมหะ ในพริกยังประกอบไปด้วยวิตามินอื่นอีกเช่น วิตามินซี วิตามินเอ ที่ช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระให้แก่ร่างกาย

พริกไทย จัดได้ว่าเป็นเครื่องเทศที่มีกันอยู่ทุกครัวเรือน ในอาหารไทยเรามักจะต้องมีพริกไทยเป็นส่วนประกอบช่วยให้อาหารมีกลิ่นและรสชาติที่อร่อยเพิ่มมากขึ้น พริกไทยมีคุณสมบัติเผ็ดร้อน ช่วยย่อยอาหารและขับเหงื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น ตามตำราแพทย์ตะวันออกระบุว่าในช่วงที่อากาศหนาวควรเสริมพริกไทยเพิ่มเติมในอาหารจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดยดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/situations/37980