Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 26 มี.ค. 2557

เอกสารแนบ

/data/content/23584/cms/bghijmpuv289.jpg

          ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันผู้คนต่างหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นครับ นั่นก็เพราะคนเราเริ่มมีอายุยืนมากขึ้น ซึ่งการจะใช้ชีวิตยืนยาวได้อย่างมีความสุขปัจจัยหนึ่งคือจะต้องปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายทั้งปวง

          และหนึ่งในโรคหรืออาการที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งนำเราไปพบแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นในคลินิกหรือตามโรงพยาบาลก็คือ อาการ "ปวดศีรษะ หรือ ปวดหัว" นั่นเอง ซึ่งบางคนบอกว่าอาการปวดหัวนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์เรามาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ขณะที่อีกหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยมีใครที่เกิดมาแล้วในชีวิตนี้ไม่เคยปวดหัว เรียกว่าพบได้บ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่น้อยคนจะทราบว่าภายใต้คำว่า "ปวดศีรษะ" นั้น อาจมีโรคบางอย่างที่เป็นอันตรายซ่อนเร้นอยู่ ฉบับนี้เราจะมาเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคปวดศีรษะให้มากขึ้นครับ

          เมื่อไม่นานนี้ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ "อ.นพ.ปรีชา ศตวรรษธำรง" อดีตผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เรื่องเกี่ยวกับโรคปวดศีรษะ ซึ่ง อ.นพ.ปรีชา มีความคิดเห็นในแนวทางเดียวกับผมว่า ปัจจุบันมีคนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนปวดเล็กๆ น้อยๆ บางคนปวดถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือบางคนปวดจนไม่สามารถทำงาน เรียนหนังสือหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

          ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับแพทย์คือจะต้องแยกให้ออกว่าอาการปวดศีรษะของคนไข้นั้นจัดอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งโรคปวดศีรษะออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

          1. กลุ่มที่ไม่ได้มีรอยโรคในสมองหรือในเยื่อหุ้มสมอง

          แต่เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเอง เช่น โรคไมเกรน, ปวดศีรษะจากความเครียด, ปวดศีรษะจากเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะจากเส้นประสาทใบหน้าอักเสบ โดยลักษณะอาการที่พบได้คือ

          1. มีอาการปวดศีรษะแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรังมาเป็นเวลานาน ช่วงที่ไม่มีอาการก็เป็นปกติ

          2. ไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท พูดไม่ชัด หรือแขนขาอ่อนแรง

          3. ไม่มีไข้ หรือคอแข็งตึง

          4. มักพบในคนอาชีพที่มีความเครียดสูง เช่น นักธุรกิจ นักศึกษา

          5. เริ่มมีอาการตั้งแต่อายุยังไม่มาก ซึ่งโดยทั่วไปจะพบในกลุ่มอายุน้อยกว่า 60 ปี

          6. มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ความเครียด การอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงการมีประจำเดือน

          2. กลุ่มที่มีรอยโรคอยู่ในสมองและศีรษะจริง ในกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา อาจเกิดอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้ เช่น โรคเนื้องอกในสมอง, หลอดเลือดสมองโป่งพอง, เลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง, เลือดคั่งในสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, โรคฝีในสมอง ซึ่งอาการปวดศีรษะในกลุ่มนี้อาจมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน เช่น

          1. ปวดทันทีและรุนแรงมาก แบบที่ไม่เคยปวดมาก่อนเลยในชีวิต

          2. ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ติดต่อกันหลายวันหรือหลายสัปดาห์ โดยไม่มีช่วงหายดีเลย

          3. ปวดรุนแรง พร้อมกับมีอาการคอแข็ง หรืออาเจียนมาก

          4. มีอาการแขนขาอ่อนแรง มองเห็นภาพซ้อน ตามัว ซึมลง สับสน ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หรือหมดสติ รวมกับอาการปวด

          5. ปวดเมื่อไอ จาม หรือ เบ่งถ่ายอุจจาระจะยิ่งทวีความปวดขึ้น

          6. ปวดครั้งแรก เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี โดยไม่ได้มีโรคปวดหัวใดๆ มาก่อน

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/23584-'ปวดหัว%20อาจไม่ธรรมดา'%20(ตอน%201).html

หมวดหมู่

สุขภาพ

ถูกใจให้บอกต่อ