Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 3 เม.ย. 2557

เอกสารแนบ

ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อน ซึ่งเหมาะกับการเติบโตของเชื้อโรคเป็นอย่างมาก เตือนประชาชนให้ระวังอาการป่วยจากเชื่อแบคทีเรีย

 

/data/content/23707/cms/bdempv134579.jpg

          นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พัทลุง กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน การป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อนซึ่งประกอบด้วย 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ นอกจากนี้ยังรวมถึงโรคพิษสุนัขบ้า และโรคลมแดดที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ 

/data/content/23707/cms/aefiklotxz25.jpg

           สำหรับการป้องกันตนเอง ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ คือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ประกอบด้วย 1) กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อ อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อนรับประทาน  2) ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น 3) ล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังจากใช้ห้องส้วม ก่อนปรุงและรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง  นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร และสิ่งปฏิกูลรอบๆ บ้านทุกวัน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และถ่ายอุจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง

          ส่วนโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกปี โดยมีพาหะหลักจากสุนัข และแมว ซึ่งอาจติดโรคจากการกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังคนมีแผล ที่สำคัญโรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย ไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและคนรอบข้าง ควรลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด หรือโดนทำร้าย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 5ย ได้แก่  “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง ”

         นายแพทย์สาธิต  ไผ่ประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โรคที่ควรระมัดระวังในช่วงฤดูร้อนอีกโรค คือ โรคลมแดด เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสส่วนวิธีป้องกัน ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร  แม้ทำงานในร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง หรือที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์1422

 

 

          ที่มา : เว็บไซต์นชแนวหน้า

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/23707-โรคหน้าร้อน%20เน้นดูแลสุขภาพ.html