Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 19 พ.ค. 2557

เอกสารแนบ

        ความดันโลหิตสูงเพชฌฆาตเงียบ เหตุคนไม่รู้ตัวว่าป่วย กรมแพทย์เผยประชากร 1 ใน 3 มีภาวะความดันโลหิตสูง ต้นเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แนะลดหวาน มัน เค็ม  ป้องกันโรคไต โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์และอัมพาต

/data/content/24267/cms/e_aglnptvxz259.jpg

          นพ.สุพรรณ  ศรีธรรมมา   อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า  โรคความดันโลหิตสูงคือภาวะที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง  ซึ่งค่าความดันปกติในปัจจุบันถือเอาค่าตัวบน ไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท  แต่ปัญหาคือคนจำนวนมากไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ เนื่องจากไม่ปรากฏอาการในช่วงแรก เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่รับการรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูงจะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญหลายระบบในร่างกายเป็นเหตุให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และโรคไต เรียกว่าเพชฌฒาตเงียบ ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงเป็น  1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร  จากสถิติขององค์การอนามัยโลก รายงานว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึงพันล้านคน  โดยประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก  1 ใน 3 คน  มีภาวะความดันโลหิตสูง และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั่วโลกสูงถึง  1.56  พันล้านคน

         นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบระหว่าง ปี 2544 พบผู้ป่วย จำนวน 156,442 ราย และ ปี 2555 พบผู้ป่วย 1,009,385 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นสูงถึง  5  เท่า

       จากความรุนแรงดังกล่าว สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก จึงได้กำหนดให้วันที่  17 พ.ค.ของทุกปีเป็นวันความดันโลหิตสูงโลก โดยได้กำหนดคำขวัญการรณรงค์ว่า "Know Your Blood Pressure" และคำขวัญของ สธ.และสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย  คือ  ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่  เพื่อให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพ  โดยมุ่งเน้นการป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ และโรคไตที่มีสาเหตุมาจากโรคความดันโลหิตสูง

/data/content/24267/cms/e_acdehiqxyz29.jpg

        นพ.สุพรรณ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูง  ได้แก่  พฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการบริโภคอาหารเค็ม  กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ  ภาวะอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่และมีภาวะเครียด  รวมทั้งอายุที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้ 

       ดังนั้น วิธีการปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันโรคความดันโลหิตสูง  คือ  ลดการบริโภคเกลือหรืออาหารที่มีรสเค็ม  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ที่หวานน้อย รวมถึงบริโภคธัญพืชแทนของว่าง  ขนมกรุบรอบ  ลดการรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการ  อาหารหมักดอง  อาหารสำเร็จรูป  ลดอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง  ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  และงดการสูบบุหรี่ ที่สำคัญผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์  ตลอดจนวัดความดันโลหิตเป็นประจำพร้อมจดบันทึกค่าความดันโลหิตในช่วงของการกินยา  เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา และป้องกันโรคหัวใจโรคอัมพฤกษ์และอัมพาตที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

        ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24267-ความดันโลหิตสูงเพชฌฆาตเงียบ.html