Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 2 มิ.ย. 2557

เอกสารแนบ

มลพิษในอากาศ หมายถึง ภาวะของอากาศที่มีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณ และเป็นระยะเวลา ที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ สารมลพิษดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ อาจอยู่ในรูปของก๊าซ หยดของเหลว หรืออนุภาคของแข็งก็ได้ สารมลพิษในอากาศที่สำคัญ และมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย

 /data/content/24478/cms/e_aegilswz3568.jpg

         เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้กองขยะที่สมุทรปราการขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ จากการเผาในที่โล่ง โดยมีสารมลพิษประเภทต่างๆเกิดขึ้น ได้แก่ ฝุ่นละออง, เขม่า ควัน, เถ้า, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ตลอดจนก๊าซโอโซน รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของสารอินทรีย์ระเหยง่าย นอกจากนี้การเผาขยะยังมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกด้วย

          มลพิษในอากาศเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร?

          1.ฝุ่นละออง เป็นมลพิษในอากาศที่เป็นปัญหาหลักในกรุงเทพมหานคร และชุมชนขนาดใหญ่ จากการวิจัยพบว่าฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไม ครอน โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้สามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจผ่านโพรงจมูกเข้าไปถึงถุงลมในปอด ทำให้เกิดการอักเสบ และการระคายเคืองเรื้อรัง และฝุ่นละอองจะมีพิษมากขึ้นหากฝุ่นละอองนั้นเกิดจากการรวมตัวของก๊าซบางชนิด เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจนเข้าไปในอนุภาคของฝุ่น โดยก่อให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองผิว หนัง ทางเดินหายใจ และดวงตาได้

          2.สารตะกั่ว มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท และมีผลต่อกระบวนการรับรู้ และการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์

          3.ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ มีความสามารถในการละลายในเลือดได้ดีกว่าออกซิเจนถึง 200-250 เท่า เมื่อหายใจเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไป จะไปแย่งจับกับฮีโมโกลบินในเลือด เกิดเป็นคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน ทำให้ความสามารถของเลือดในการเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆลดลง ทำให้เลือดขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ ต่างๆในร่างกาย และหัวใจทำงานหนักขึ้น หากมนุษย์ได้รับก๊าซนี้ในปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

          4.ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และเยื่อบุตา ทำให้เกิดการแสบจมูก หลอดลม ผิวหนัง และตา เมื่อหายใจเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไป จะทำให้ก๊าซละลายในของเหลวในระบบทางเดินหายใจเกิดเป็นกรดซัลฟิวริก ซึ่งจะกัดกร่อนเยื่อบุ และอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ หากได้รับเป็นเวลานานๆ จะทำให้เป็นโรคจมูก และหลอด ลมอักเสบเรื้อรังได้

          5.ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน มีผลต่อระบบการมองเห็น และผู้ที่มีอาการหอบหืด หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไปจะทำให้มีอาการกำเริบขึ้นได้ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศ หากรวมตัวกับไอน้ำ จะสามารถเกิดเป็นกรดไนตริก ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนวัสดุต่างๆ รวมถึงทางเดินหายใจของมนุษย์

          6.ก๊าซโอโซน มีฤทธิ์กัดกร่อน ก่อให้เกิดการระคายเคืองตา และเยื่อบุระบบทางเดินหายใจ เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูก และ ปอด ทำให้ความสามารถของปอดในการรับก๊าซออกซิเจนลดลง อาจเกิดโรคหืด โดยเฉพาะในเด็ก และมีอาการเหนื่อยง่าย และเร็ว ในคนชรา และคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือโรคหืด จะมีอาการมากขึ้นกว่าเดิม

          7.สารอินทรีย์ระเหยง่าย มีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ โดยทำให้เกิดการอักเสบ และการระคายเคืองเรื้อรัง นอกจากนี้สารบางชนิดเป็นสารก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และเสี่ยงต่อการก่อมะเร็ง เช่น polycyclic aromatic hydro carbons, เบนซีนและไดออกซิน (มักเกิดจากการเผาขยะมูลฝอยที่มีพลาสติกปน)

 

 

          ​ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24478-มลพิษในอากาศ%20กับปัญหาสุขภาพ.html