Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 8 ก.ค. 2557

เอกสารแนบ

/data/content/24958/cms/e_efhipqsuw136.jpg

          สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูงการทำความเข้าใจ และอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกสินค้าบริโภคนั้นจะได้รับประโยชน์อย่างมากและช่วยในการป้องกันควบคุมโรคที่เป็นอยู่ไม่ให้แย่ลง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักคิดว่าไม่สามารถรับประทานของหวานหรือน้ำตาลได้เลย ดังนั้น จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะเลี่ยงของหวาน แต่แท้ที่จริงแล้วตัวที่ทำให้ค่าของน้ำตาลเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้มาจากน้ำตาลเพียงอย่างเดียว สารอาหารหลักที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด คือ

          คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด ซึ่งกลุ่มอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรต ได้แก่ กลุ่มข้าว แป้ง น้ำตาล กลุ่มผลไม้ และกลุ่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม สำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงค่าที่ต้องระวังจากฉลากโภชนาการ คือ ค่าของไขมันรวมโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ปริมาณคอเลสเตอรอล รวมถึงปริมาณของคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล เพราะอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูงนั้น จะสามารถเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้ด้วยเช่นกัน ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงควรพิจารณาค่าของโซเดียมในอาหารให้มากเพราะอาหารที่มีโซเดียมสูงหรือมีปริมาณเกลือสูงจะส่งผลให้ความดันโลหิตยิ่งสูงขึ้น

          ดังนั้น หากสามารถอ่านฉลากโภชนาการและทำความเข้าใจก็จะสามารถช่วยให้ตัดสินใจเลือกอาหารที่ดีขึ้น ค่ที่ควรสังเกตบนฉลากโภชนาการ ได้แก่

/data/content/24958/cms/e_afhnotz24679.jpg

          ค่าคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด ซึ่งเป็นค่ารวมของทั้ง แป้ง น้ำตาล และใยอาหารในหนึ่งหน่วยบริโภค เป็นค่าที่สำคัญที่สุดที่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรพิจารณา เมื่อเทียบอาหารในกลุ่มเดียวกันเช่นขนมปัง ควรเลือกชนิดที่มีค่าของคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดต่ำแต่หากเท่ากันก็ควรพิจารณาค่าอื่นประกอบ

          ค่าของไขมันทั้งหมด โดยปกติแล้วจะแนะนำพลังงานจากไขมันร้อยละ 30 ของพลังงานที่ได้ในแต่ละวัน โดยมีไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 10 ไขมันมีทั้งชนิดที่ดีต่อร่างกาย เพราะเป็นตัวที่ช่วยให้วิตามินดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แต่ไขมันบางประเภทเมื่อได้รับมากเกินไปก็จะทำให้อ้วนเนื่องจากให้พลังงานสูง และไขมันกลุ่มอิ่มตัวสูงก็เป็นตัวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงและโรคเบาหวานควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่าของไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 1 - 2 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เมื่ออ่านฉลากโภชนาการแล้วควรอ่านที่ส่วนประกอบด้วยเพื่อดูว่ามีไขมันและน้ำมันอะไรที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ เพื่อเลือกให้มีความหลากหลาย

          ค่าของคอเลสเตอรอล อาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนมจะมีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ ตามคำแนะนำไม่ควรได้รับคอเลสเตอรอลเกินกว่าวันละ 300 มิลลิกรัม สำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงควรเลือกอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำและเพิ่มในส่วนของใยอาหารให้มากขึ้น เพราะใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายและขับออก

/data/content/24958/cms/e_fjkrtuz24579.jpg

          ค่าของใยอาหารที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ยิ่งมีค่าของใยอาหารสูงก็ยิ่งดี เนื่องมาจากใยอาหารเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้และไม่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้น และยังมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมันเข้าสู่ร่างกาย จากการศึกษาพบว่าอาหารที่มีใยอาหารสูงช่วยควบคุมโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูงช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งที่บางอวัยวะ อาหารส่วนใหญ่ที่มีใยอาหารสูงมักมีปริมาณโซเดียมต่ำซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงด้วย

          ค่าของน้ำตาล ค่านี้บอกถึงปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร ค่านี้คือของน้ำตาลที่มีอยู่ในธรรมชาติของอาหาร เช่น น้ำตาลจากผลไม้ (ฟรุกโตส) และ น้ำตาลจากนม (แลกโตส) รวมกับค่าของน้ำตาลที่เพิ่มเติมลงไปในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลต่ำ

          ค่าของโซเดียม อาหารที่มีโซเดียมสูงจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง และในผู้ที่มีภาวะของไตทำงานผิดปกติก็ควรอย่างยิ่งที่จะลดการบริโภคโซเดียม อาหารในกลุ่มของอาหารสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวส่วนมากแล้วจะมีปริมาณของโซเดียมที่สูง ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีแล้วควรเลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำกว่า 400 มก. ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคและวันหนึ่งไม่ควรเกิน 2300 มก. และอย่าลืมว่าโซเดียมมากับอาหารอีกหลายอย่างที่ไม่มีฉลากบริโภค จึงควรลดปริมาณเกลือจากอาหารอื่นๆ ด้วย

 

 

          ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดยดร.ฉัตรภา หัตถโกศล        

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต   

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24958-ควบคุมและป้องกันโรค%20ด้วยการอ่านฉลากโภชนาการ%20.html