Angthong Hospital

  • 035 615 111
  • 035 612 151

ประกาศ, ประชาสัมพันธ์, รายงานและบทความ

ณัฐธภัสสร รัศมีสุขสรร 8 พ.ค. 2557

เอกสารแนบ

   ภาวะท้องผูกคืออาการไม่ใช่โรค แต่หมายถึงการที่ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายและสม่ำเสมอ โดยมีความถี่ของการขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่าทุก 3 วันหรือวันเว้น 2 วัน ร่วมกับการถ่ายก้อนอุจจาระที่มีลักษณะแข็ง บางคนที่มีท้องผูกอาจรู้สึกเจ็บปวดเวลาถ่ายอุจจาระ ภาวะนี้พบบ่อยในกลุ่มสตรีที่มีอายุสูงกว่า 65 ปี

/data/content/24154/cms/e_bfghjostz478.jpg

          ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เนื่องจากลำไส้บีบตัวช้าลง และยังเป็นปัญหาบ่อยสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรหรือหลังผ่าตัด ส่วนใหญ่มักเป็นชั่วคราวและไม่รุนแรง

           สำหรับสาเหตุของท้องผูก ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่สม่ำเสมอ และมีปริมาณกากใยไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย ยาบางชนิด อาทิ ยาแก้ปวด ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมและแคลเซียม การเปลี่ยน แปลงกิจวัตรประจำวัน การใช้ยาระบายที่ไม่ถูกต้อง การละเลยที่จะออกแรงเบ่งเพื่อขับถ่ายอุจจาระ การขาดน้ำ โดยภาวะท้องผูกจะก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงได้ เพราะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ริดสีดวงทวารเกิดจากการออกแรงเบ่งมากเกินไป เกิดแผลปริที่ผิวหนังขอบทวารหนัก จากก้อนอุจจาระที่แข็งมาก ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักยืด เกิดเลือดออกได้บางครั้ง

          ส่วนวิธีการรักษาในเชิงพฤติกรรมสามารถกระทำได้ เพื่อแก้ไขภาวะท้องผูก คือ ลำไส้จะเคลื่อนไหวมากหลังจากรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเช้า ซึ่งมักเป็นเวลาที่อุจจาระพร้อมจะถูกขับถ่ายออกมา จึงควรไปขับถ่ายอุจจาระ เมื่อรู้สึกอยากขับถ่ายโดยไม่รั้งรอ เพราะหากเมินเฉยต่อสัญญาณขับถ่ายที่ร่างกายส่งมา จะส่งผลให้สัญญาณนั้นอ่อนลงไปเรื่อย ๆ ควรให้ความสนใจกับการ ดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ ในตอนเช้า เช่น น้ำชา หรือกาแฟ อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของลำไส้และส่งผลต่อการขับถ่ายอุจจาระ

          การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอทุกวัน ก็จะช่วยได้เช่นกัน ที่สำคัญการรับประทานอาหารและดื่มน้ำเพียงพอ เป็นปัจจัยที่ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีและรับประทานอาหารที่มีกากใย 20-35 กรัมต่อวัน จะช่วยให้อุจจาระมีขนาดใหญ่และนุ่ม ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่มีกากใย ควรเริ่มจากปริมาณน้อย ๆ แล้วค่อยเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งก้อนอุจจาระนิ่มลงและขับถ่ายได้บ่อย โดยอาหารบางชนิดมีคุณสมบัติช่วยระบายโดยธรรมชาติ อาทิ ลูกพรุน ผลมะเดื่อฝรั่ง ผลกีวี ชะเอมเทศ กากน้ำตาล การโรยเมล็ดลินินหรือเมล็ดแฟล็กซ์กะเทาะเปลือกลงในอาหารที่รับประทาน อาจจะช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายได้คล่องมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่ท้องผูก

          ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่มีกากใย อาทิ ไอศกรีม ชีส เนื้อสัตว์ หรืออาหารสำเร็จรูป การดื่มน้ำหรือน้ำผัก-ผลไม้ทุกวัน ก็ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำและแก้ท้องผูกได้

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

อ้างอิง: http://www.thaihealth.or.th/Content/24154-แนะวิธีปรับการกินแก้ท้องผูก.html